Business

‘พืชแห่งอนาคต’ สานเป้าอุตฯ ‘อาหารแห่งอนาคต’ ดันไทยขึ้น ‘เจฮับ’

พืชแห่งอนาคต โอกาสใหม่เกษตรไทย วาง 4 แนวทาง ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ อาหารแห่งอนาคต พร้อมกรุยทาง ปั้นไทยขึ้นแท่น เจฮับ รับเทรนด์เนื้อสัตว์จากพืชมาแรง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (First S-Curve New S-Curve) เพื่อสร้างโอกาสและศักยภาพใหม่ให้กับประเทศ โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ คือ อาหารแห่งอนาคต

พืชแห่งอนาคต

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รับผิดชอบโครงการ พืชแห่งอนาคต (Future Crop) เพื่อตอบสนองการผลิต อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่มีแนวโน้มความต้องการของตลาด เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างเช่น กรณีของโปรตีนจากแมลง ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารจากแมลงของโลก

นอกจากนั้น ยังมีอาหารแห่งอนาคต ที่กำลังมาแรง คือ อาหารที่ใช้โปรตีนจากพืช ผลิตเป็นอาหารที่เรียกว่า เนื้อจากพืช (Plant Based Meat) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อของ “อาหารเจ” ซึ่งประเทศไทย มีศักยภาพที่จะเป็น ศูนย์กลางการผลิต หรือ “เจฮับ” ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

สำหรับ เนื้อจากพืช จะเป็นสินค้าเกษตรอาหารตัวใหม่ ในการสร้างรายได้สร้างอาชีพ และธุรกิจการเกษตรใหม่ ๆ ให้กับภาคเกษตรและกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในยุคโควิด ที่ผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะในจีน อินเดีย ญี่ปุ่น อาเซียน สหรัฐและยุโรป ซึ่งมีประชากรกว่า 4,000 ล้านคน ต้องการอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นนับเป็น New Normal ในยุคโควิด เป็นเทรนด์การรับประทานอาหารแนวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก

จากข้อมูลของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ FAO คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลก ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของโลก เพิ่มขึ้น 30% ภายใน 15 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม หากการผลิตอาหารยังคงดำเนินไปในรูปแบบเดิม การสนับสนุนการบริโภคโปรตีนจากพืชจึงเป็นหนึ่งในแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด

อลงกรณ์ 1
อลงกรณ์ พลบุตร

สอดคล้องกับ ยอดขายอาหารสำเร็จรูป ของเนื้อจากพืช ในสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 15.4% เทียบกับเนื้อแปรรูป (Processed Meat) ที่เติบโตเพียงปีละ 1.2%

สอดคล้องกับข้อมูลของ NPD Group ผู้ประกอบการในสหรัฐอเมริกา ที่ขายเบอร์เกอร์ และแซนวิช เนื้อที่ทำจากพืช ก็พบว่ายอดขายระหว่างเมษายน 2561– มีนาคม 2562 เพิ่มขึ้นถึง 7.8%  เช่นเดียวกับบริษัท Beyond Meat หนึ่งในโรงงานผลิตเนื้อจากพืชรายใหญ่สุดของโลกก็รายงานยอดขายไตรมาส 2 ของปี 2562 เติบโตถึง 287%

“ปี 2562 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ของผลิตภัณฑ์เนื้อที่ทำจากพืช สะท้อนจากธุรกิจอาหาร ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นร้านเบอร์เกอร์ชื่อดังในสหรัฐอเมริกา อย่าง Carl’s Jr.ประกาศขายเบอร์เกอร์ที่ผลิตด้วยเนื้อที่ทำจากพืช และ เบอร์เกอร์คิง ที่ประกาศขายเบอร์เกอร์ที่ทำจากพืชเช่นกัน

ส่วนตลาดอาหารเจในจีน ที่ใช้เนื้อจากพืชกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท ในปีที่ผ่านมา และถ้ารวมมูลค่าตลาดในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก จะมีมูลค่าเกือบ 5 แสนล้านบาท ไม่ว่าค่ายอาลีบาบา ของจีน หรือ สตาร์บัค เคเอฟซีและเนสท์เล่ ของประเทศตะวันตก ต่างขยายการผลิตและการตลาดอาหาร ตั้งแต่ติ่มซำ ซาลาเปา เฝอ ก๊วยเตี๋ยว ซูชิแกงกะหรี่ จนถึงไส้กรอก ไก่ย่างและแฮมเบอร์เกอร์ที่ผลิตจากโปรตีนพืช

พืชแห่งอนาคต

สำหรับประเทศไทย มีบริษัทชื่อ “Let’s Plant Meat” เป็นผู้ผลิตเนื้อจากพืช รายแรกในประเทศไทย โดยมีการวางจำหน่ายแฮมเบอร์เกอร์ ใช้เนื้อจากพืช ในซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น เทสโก้โลตัส แม็กแวลู และกูเมท์มาร์เก็ต โดยมีราคาถูกกว่าของอเมริกายี่ห้อ Beyond Burger ยักษ์ใหญ่ของโลกกว่าครึ่งหนึ่ง

ทั้งนี้ สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขัน ด้านคุณภาพและราคา และยังมีบริษัท Meat Avatar เป็นบริษัทสตาร์ทอัพของไทย รวมทั้งยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ ก็ออกผลิตภัณฑ์เฟรกซิทาเรี่ยน(Flexitarians) ออกสู่ตลาด

ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่า อาหารแห่งอนาคต จะมาพลิกโฉมตลาดอาหารของโลก ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเป็นอาหารที่ปราศจากยาปฏิชีวนะ 0% คลอเรสเตอรอล 0% และเป็นการเพิ่มปริมาณอาหารให้กับโลก ซึ่งเท่ากับว่าเกษตรกรของไทย คือ ฮีโร่ช่วยชาวโลก ในภาวะที่โลก กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอาหาร จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบห่วงโซ่การผลิตอาหารของโลก

สำหรับ 4 แนวทาง ที่วางไว้ ได้แก่ เทคโนโลยีเกษตร นวัตกรรมอาหาร ระบบทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายเกษตรปลอดภัย โดยอาหารปลอดภัย เป็นหัวใจหลัก ในการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิต การพัฒนาเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร การแปรรูปการตลาด การสร้างธุรกิจและอุตสาหกรรม เนื้อจากพืช หรืออาหารเจ ป้อนตลาดในประเทศ และส่งออกไปทั่วโลก

ขณะที่ คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกลุ่มคลัสเตอร์เกษตรอาหาร (กรกอ.) สศก. สวก.และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม หอการค้าไทยและกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมกับกลุ่มบริษัทไทย ผู้ผลิตอาหารเจ ภายใต้โมเดลเนื้อจากพืช จัดทำโรดแมปตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอนาคต หรือ ซิลิคอน วัลเลย์อาหารแห่งอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo