Business

โค้งสุดท้าย ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ส่งไม้ต่อสู่ ‘คนละครึ่ง’ แจกเงินเยียวยาประชาชน

เราไม่ทิ้งกัน โค้งสุดท้าย! เตรียมปิดโครงการอย่างเป็นทางการ 30 กันยายน 2563 ก่อนส่งไม้ต่อสู่โครงการ “คนละครึ่ง” แจก 3000 บาท เยียวยาประชาชน 10 ล้านคน

มาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” หรือมาตรการแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท มีจุดเริ่มต้นจากการที่ “รัฐบาล” ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง กู้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โดยให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม พร้อมได้ออกมาตรการดูแลแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา หรือ “โควิด-19” ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการสนับสนุนเงินคนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน

รัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2563 ผ่านเว็บไซด์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้เปิดให้ผู้ที่มีคุณสมบัติรับสิทธิ์เงินเยียวยา 5,000 บาท ได้ลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

เราไม่ทิ้งกัน

สำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท มีดังนี้

  • เป็นคนไทย
  • มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ณ วันลงทะเบียน
  • ไม่เป็นนิสิต นักศึกษา (ต่อให้ส่งเงินตามผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 ก็ตาม) ไม่เป็นข้าราชการ
  • เป็นลูกจ้าง หรือทำอาชีพอิสระ เช่น ขับมอเตอร์ไซต์, พ่อค้า-แม่ค้า, แท็กซี่, ร้านนวด สปา, รับจ้างแม่บ้าน (แม่บ้านอยู่กินกับสามีไม่ได้), ไกด์นำเที่ยว เป็นต้น และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง
  • รับเฉพาะผู้ที่อยู่ในประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 เท่านั้น เพราะอาชีพอิสระเหล่านี้ส่งประกันสังคมเอง
  • ต้องไม่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม (มาตรา 33) เพราะได้รับการช่วยเหลือจากประกันสังคมอยู่แล้ว

เราไม่ทิ้งกัน เปิดลงทะเบียนไม่กี่นาที ก็ทิ้งทุกคนไปทันที เพราะหลังจากเปิดระบบใน 2 นาทีแรก มีประชาชนเข้ามาลงทะเบียนจำนวนมากถึง 20 ล้านคน ส่งผลให้ระบบการลงทะเบียนขัดข้องไม่สามารถใช้งานได้ จนต้องปิดระบบการลงทะเบียนชั่วคราว เพื่อแก้ไขให้รองรับประชาชนได้เพิ่มขึ้น

จากนั้น www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้มีการเพิ่มปุ่มขึ้นมาอีก 5 ปุ่ม คือ ยกเลิกการลงทะเบียน, ตรวจสอบสถานะ, เปลี่ยนแปลงข้อมูลการรับเงิน, ให้ข้อมูลเพิ่มเติม และยื่นทบทวนสิทธิ์ โดยปิดให้ลงทะเบียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563

หลังจากกระทรวงการคลัง ประกาศปิดการลงทะเบียนขอรับสิทธิ์แล้วนั้น แต่ยังคงเปิดเว็บให้ตรวจสอบสถานะ, ยกเลิกการลงทะเบียน, เปลี่ยนแปลงข้อมูลการรับเงิน และยื่นข้อมูลเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ คลังยังได้เพิ่มช่องทางร้องทุกข์เราไม่ทิ้งกัน สำหรับประชาชนที่มีปัญหาในการลงทะเบียน

อย่างไรก็ตาม หลังจากเสร็จภารกิจการจ่ายเงินเยียวยา 15,000 บาท ให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ทั้งหมดแล้ว เว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน จะยังคงไม่ปิดตัว เนื่องจากจะค่อยอัปเดตข้อมูลข่าวสารให้พี่น้องประชาชนได้ค่อยรับทราบต่อไป

เราไม่ทิ้งกัน

ล่าสุด นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้ดำเนินมาตรการ เราไม่ทิ้งกัน จ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทให้กับประชาชนเสร็จสิ้นแล้ว และผู้มีสิทธิ์รับเงินเยียวยาทั้งหมด 15.3 ล้านคน แต่คงเหลือผู้มีสิทธิ์รับเงินเยียวยาบางส่วน ที่กระทรวงการคลังไม่สามารถโอนเงินให้ได้ เนื่องจากเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับบัญชีรับเงิน เช่น ยังไม่มีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน หรือบัญชีปิด เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ยังคงพยายามโอนเงินซ้ำ (Retry) อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์จนถึงปัจจุบัน โดยคงเหลือผู้ที่ยังโอนเงินไม่สำเร็จจำนวนประมาณ 56,000 คน ซึ่งกระทรวงการคลังจะดำเนินการโอนเงินซ้ำ (Retry) ต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 เท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563

ดังนั้น สำหรับผู้มีสิทธิ์แต่ยังไม่ได้รับเงิน ขอให้ตรวจสอบว่า ท่านอยู่ในกลุ่มผู้มีสิทธิ์ที่กระทรวงการคลังโอนเงินไม่สำเร็จหรือไม่ โดยตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ปุ่มสีเขียวเข้ม “ผู้มีสิทธิ์ที่ยังโอนเงินไม่สำเร็จ”

ทั้งนี้ หากท่านอยู่ในกลุ่มดังกล่าว หรือท่านได้รับข้อความ SMS แจ้งว่าเป็นผู้มีสิทธิ์แต่โอนเงินไม่สำเร็จ ขอให้รีบไปติดต่อธนาคารใดก็ได้ที่ท่านมีบัญชีอยู่ และดำเนินการผูกพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประชาชนโดยเร็ว ก่อนวันที่ 28 กันยายน 2563 เพื่อให้สามารถรับเงินโอนจากกระทรวงการคลังได้ทันภายในวันที่ 30 กันยายน 2563

อย่างไรก็ตาม หลังจากวันที่ 30 กันยายน 2563 กระทรวงการคลังจะพิจารณาปิดโครงการและยุติการโอนเงิน ดังนั้น ขอให้ผู้มีสิทธิ์ที่ยังโอนเงินไม่สำเร็จเร่งดำเนินการผูกพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประชาชนโดยเร็วที่สุด

เราไม่ทิ้งกัน

เมื่อจบจากมาตรการช่วยเหลือต่างๆของรัฐบาล ก็ดูท่าว่า ความเดือดร้อนของประชาชนยังไม่ได้หมดไป ล่าสุด รัฐบาลได้ผุดมาตรการใหม่ขึ้นมา หวังบรรเทาความเดือนร้อนให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยอีกครั้ง คือ มาตรการ “คนละครึ่ง” แจกเงิน 3000 บาท เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้แก่กลุ่มต่างๆ ทั้งบุคคลทั่วไป และผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 24 ล้านราย ต่อยอดลักษณะเดียวกับโครงการชิมช้อปใช้

โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 06.00 น. ของวันที่ 16 ตุลาคม เป็นต้นไป ทั้งนี้กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563

สำหรับประเด็นสำคัญของมาตรการ “คนละครึ่ง” ดังนี้

  • กลุ่มเป้าหมายมาตรการนี้มีจำนวน 24 ล้านคน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

– กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน

– กลุ่มบุคคลทั่วไป ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 10 ล้านคน

  • กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รัฐบาลจะจ่ายเงินเข้าบัตรฯ ให้คนละ 500 บาท เป็นระยะ 3 เดือน รวมเป็น 1,500 บาท เพื่อให้ผู้ถือบัตรนำเงินไปใช้จ่ายได้ทันที
  • กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ต้องลงทะเบียนใหม่
  • บุคคลทั่วไปนั้น จะใช้แนวทางคนละครึ่ง คือ รัฐจะให้วงเงินสมทบไม่เกิน 3,000 บาท สำหรับการใช้จ่ายเท่ากับ หรือมากกว่า 3,000 บาท
  • บุคคลทั่วไป จะต้องลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ ผ่าน www.คนละครึ่ง.com ในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ เริ่มเวลา 06.00 น.
  • กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และบุคคลทั่วไป เริ่มใช้จ่ายได้ 23 ตุลาคมนี้
  • สำหรับร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ จะเป็นร้านค้ารายย่อยทั่วไป ไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อ
  • รัฐบาลกำลังจะเปิดรับสมัครร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศ ให้เข้าร่วมโครงการ 1 ตุลาคมนี้
  • ร้านค้าที่เคยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ชิมช้อปใช้ และเราเที่ยวด้วยกัน ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่

จากมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” แจกเงิน 5,000 บาท รวม 3 เดือน ให้กับประชาชนที่ได้รับสิทธิ์กว่า 15.3 ล้านคน โดยใช้งบประมาณกว่า 240,000 ล้านบาท แต่ดูท่าว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้ช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าของประชาชนมากนัก แถมยังไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้นเท่าไร เพราะสำนักพยากรณ์เศรษหลายแห่งยังฟันธงว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังติดลบหนักเช่นเดิม

ขณะที่มาตรการล่าสุดอย่าง “คนละครึ่ง” ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบศ.) ประเมินว่า จะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบประมาณ 90,000 ล้านบาท และพร้อมที่จะขยายสิทธิ์ให้มากกว่า 10 ล้านคน หากได้รับความนิยมจากประชาชน จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า มาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศของรัฐบาลครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้กระเตื้องได้หรือไม่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo