Business

แห่กู้ ธ.ก.ส. ‘ใช้ไม้ยืนต้น ค้ำประกัน’ 1.1 แสนต้น มูลค่ากว่า 132 ล้านบาท

แห่กู้ ธ,ก.ส. ใช้ไม้ยืนต้น ค้ำประกัน แตะ 111,365 ต้น มูลค่ารวมกว่า 132 ล้านบาท ใน 4 จังหวัดนำร่อง หวังประชาชนปลูกไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สิน มรดกลูกหลาน

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า โครงการผลักดัน ใช้ไม้ยืนต้น ค้ำประกัน หรือใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ล่าสุดจนถึงวันที่ 15 ก.ย.2563 มีผู้ขอนำไม้ยืนต้น มาจดทะเบียนสัญญา หลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 111,365 ต้น มูลค่ารวมกว่า 132,169,000 ล้านบาท

ใช้ไม้ยืนต้น ค้ำประกัน

สำหรับโครงการไม้ยืนต้น หลักประกันทางธุรกิจ  ปัจจุบันเริ่มจากพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี อุทัยธานี พิษณุโลก และอ่างทอง เป็นจังหวัดนำร่อง โดยเริ่มมอบวงเงินจดทะเบียนไม้ยืนต้น เป็นหลักประกันทางธุรกิจ ให้แก่เกษตรกรทั้ง 4 จังหวัดข้างต้นแล้ว และจะผลักดันให้เกษตรกรในจังหวัดอื่น ๆ นำไม้ยืนต้นมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมรับไม้ยืนต้น เป็นหลักประกัน ในการขอกู้เงินแล้ว โดยเกษตรกรสามารถเข้าไปปรึกษา และยื่นขอกู้เงินกับธ.ก.ส.ได้ และหวังว่าธนาคารพาณิชย์อื่น จะนำไปใช้เป็นต้นแบบ และปล่อยกู้ต่อไป

พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้าผลักดัน ให้เกษตรกรและประชาชน ปลูกไม้ยืนต้น บนที่ดินของตนเองและชุมชน เพื่อเป็นทรัพย์สิน เป็นมรดกให้ลูกหลาน สร้างให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ที่มีความมั่งคง รวมถึงการนำไม้มีค่า ไปแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่า และนำมาเป็นหลักประกันทรัพย์สินสำหรับขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ

“อีกทั้งเป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ในการจัดการทรัพยากรชุมชนร่วมกัน เพิ่มพื้นที่ป่ารักษาระบบนิเวศ สร้างสิ่งแวดล้อมให้สมดุล และลดภาวะโลกร้อน”นายวีรศักดิ์ กล่าว

วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล
วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล

สำหรับการ ปลูกไม้ยืนต้น มีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งการเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับประเทศ ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน และยังเป็นการลงทุนเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต เพราะต้นไม้มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโตแล้ว มูลค่าก็ยิ่งสูงขึ้น และยังสามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อขอกู้เงินได้ด้วย

ดังนั้น จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ในการมีเงินมาลงทุน ต่อยอดทำการเกษตร หรือใช้สอยในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ยกเลิกไม้หวงห้าม บนที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ทำให้การปลูก การตัดไม้เศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ง่าย ทำให้มีส่วนช่วยส่งเสริมการ ปลูกไม้ยืนต้น เพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันมีการแยกประเภทพันธุ์ไม้ ที่มีศักยภาพ สำหรับปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจ ตามโครงการ ส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นทุน ระยะยาว โดยใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราการเติบโต รอบตัดฟัน และมูลค่าของเนื้อไม้มาใช้ เพื่อแบ่งต้นไม้ออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตเร็ว รอบตัดฟันสั้น มูลค่าของเนื้อไม้ต่ำ กลุ่มนี้จะมีมูลค่าต่ำ เช่น ยูคาลิปตัส สัตตบรรณ กระถินเทพา กระถินณรงค์ ฯลฯ

กลุ่มที่ 2 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เช่น ประดู่ ยางนา กระบาก สะตอ ฯลฯ

กลุ่มที่ 3 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูง ได้แก่ สัก ฯลฯ

กลุ่มที่ 4 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตช้า รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูงมาก เช่น พะยูง ชิงชัน จันทน์หอม มะค่าโมง ฯลฯ เป็นต้น

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบอนุมัติหลักการ ร่างกฎกระทรวง กำหนดให้ทรัพย์สินอื่น เป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

ทั้งนี้ มีสาระสำคัญ กำหนดให้ ไม้ยืนต้น ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมาย ว่าด้วยสวนป่า รวม 58 ชนิด เป็นทรัพย์สิน ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ เพื่อสนับสนุนการ ปลูกไม้ยืนต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo