Business

‘อีวอลเล็ต’ แข่งดุ​ รับเทรนด์ ชำระเงินไร้สัมผัส โควิดตัวเร่ง โตต่อเนื่อง

ชำระเงินไร้สัมผัส โตต่อเนื่อง​ ดันสนามอีวอลเล็ตแข่งเดือด​ รับเทรนด์ลูกค้ายุคดิจิทัล​ เปลี่ยนพฤติกรรม​ โดยมีโควิด​ และมาตรการเว่นระยะห่างเป็นตัวเร่ง

ศูนย์​วิจัย​กสิกรไทย​ เปิดเผยว่า​ การแพร่ระบาดของ โควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญ​ ที่ทำให้พฤติกรรมการโอนเงิน​ และชำระค่าสินค้า​ รวมถึงบริการ​ ของผู้บริโภคไทยเปลี่ยนไป โดยเกิด New Normal ที่มุ่งสู่การโอน​ และ ชำระเงินไร้สัมผัส (Contactless Payment) เพิ่มมากขึ้น

ชำระเงินไร้สัมผัส

จากการสำรวจของ​ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย​ พบว่า หลังจากที่การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในไทยคลี่คลายลง ยังมีผู้บริโภคที่ใช้งานธนาคารผ่านมือถือ​ (Mobile Banking) และ อีวอลเล็ต (e-Wallet) มากขึ้น และมีผู้บริโภคกลุ่มใหม่เข้ามาใช้งานเพิ่มขึ้นด้วย โดยเป็นกลุ่มผู้บริโภคในช่วงวัย 35–44 ปี ที่ใช้งานเพิ่มขึ้น จากเดิมที่การใช้งานกระจุกตัวอยู่ที่ช่วงวัย 25–34 ปี

ทั้งนี้ จากการสำรวจยังพบว่า ลักษณะของแอปพลิเคชัน Mobile Banking และ e-Wallet 3 อันดับแรก ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน คือ 1. สามารถรวมทุกบัญชีออนไลน์ ไว้ในแอปพลิเคชันเดียว 2. ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน และ 3) มีฟีเจอร์ การใช้บัตรเครดิต

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2563 การโอนและชำระเงินผ่าน Mobile Banking และ e-Money จะยังคงโตต่อเนื่อง และแม้ว่าจะได้รับแรงผลักดันจากพฤติกรรม Contactless Payment หรือการชำระเงินไร้สัมผัส แต่อัตราการเติบโตก็ชะลอลง เนื่องจากมูลค่าธุรกรรมต่อครั้งลดลง

นอกจากนี้ ยังมีผลมาจาก ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อลดลง จากผลของภาวะเศรษฐกิจ โดยคาดว่า จะมีปริมาณธุรกรรมโอน และชำระเงินผ่าน Mobile Banking ราว 7,758.0–7,927.5 ล้านรายการ ขยายตัว 57.5–61.0%

15SEP คนไทยใช้ mobile banking

ขณะที่มูลค่าธุรกรรมประมาณ 28,910.4–29,707.2 พันล้านบาท ขยายตัว 18.4–21.7% จากปี 2562 ส่วนปริมาณธุรกรรมผ่าน e-Money อยู่ที่ราว 1,990.1–2,038.0 ล้านรายการ ขยายตัว 1.2–3.7% มีมูลค่าประมาณ 286.3–291.1 พันล้านบาท ขยายตัว 1.5–3.2% จากปี 2562

สำหรับ​ในระยะข้างหน้า ผู้ให้บริการโอน และชำระเงิน ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Mobile Banking และ e-Wallet ในไทยยังมีโอกาสเติบโต แต่ก็ต้องเผชิญการแข่งขันที่เข้มข้น จากการเข้ามาของกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ให้บริการ e-Wallet

ดังนั้น ในระยะข้างหน้า จะได้เห็นการแข่งขัน การทำกลยุทธ์ด้านราคา และโปรโมชั่นของกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยน่าจะเป็นการทำการตลาด เพื่อกระตุ้นการเปิดใช้บริการ ของทั้งทางฝั่งผู้บริโภค และผู้ประกอบการร้านค้า และร้านอาหารต่าง ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับ ผลสำรวจของวีซ่า ที่พบว่า 81% ของผู้บริโภคชาวไทย เข้าใจถึงคอนเซ็ปต์ของการทำ ธุรกรรมทางการเงินดิจิทัล ที่เป็นการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ หรือสมาร์ทโฟนในการเข้าถึงบัญชีธนาคาร โอนเงิน จ่ายบิล และอื่นๆ อีกมากมาย โดยไม่ต้องเดินทางไปยังธนาคารสาขาหรือใช้เงินสด

ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า ความสะดวก คือ แรงจูงใจหลักในการเลือกทำ ธุรกรรมทางการเงินดิจิทัล (61 เปอร์เซ็นต์) ตามมาด้วยข้อดีในเรื่องของการที่ไม่ต้องรอคิวที่ธนาคารสาขา (60 เปอร์เซ็นต์) และเป็นทางเลือกที่สะดวกและรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางการเงิน (57 เปอร์เซ็นต์)

สำหรับ 5 บริการ ที่ผู้บริโภคชาวไทยเลือกที่จะใช้บริการ ธุรกรรมทางการเงินดิจิทัล คือ การฝากและถอนเงิน (72 เปอร์เซ็นต์) ชำระบิลต่างๆ (70 เปอร์เซ็นต์) โอนเงินไปยังครอบครัวและเพื่อน (69 เปอร์เซ็นต์) ชำระเงิน ณ ร้านค้า (67 เปอร์เซ็นต์) และการเข้าถึงบริการเพื่อการลงทุน (58 เปอร์เซ็นต์)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo