Business

สรุปลดเงินสมทบ ‘ประกันสังคม’ เหลือ 2% ผู้ประกันตนมีเงินในกระเป๋าเพิ่มเท่าไหร่?

มาตรการเยียวยาผู้ประกันตนในระบบกองทุนประกันสังคมเฟสที่ 2 ออกมาแล้ว โดยจะ ลดเงินสมทบ “ประกันสังคม” เหลือ 2% เพื่อช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตนในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด

สำหรับมาตรการช่วยเหลือรอบนี้จะมีระยะเวลา 3 เดือนเหมือนรอบที่แล้ว เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2563 ส่วนจะมีผลกระทบอย่างไร? ลูกจ้างและนายจ้างจะมีเงินติดกระเป๋าเพิ่มเท่าไหร่? ไปดูกันเลย!

ลดเงินสมทบ ประกันสังคม 2%

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))

ร่างประกาศดังกล่าวกำหนดให้ลดอัตราการนำเงินสมทบเข้ากองทุน ประกันสังคม ของนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อรักษาระดับการจ้างงานและเพิ่มกำลังซื้อของตลาดในประเทศ

 

รายละเอียด ลดเงินสมทบ “ประกันสังคม” 2%

มาตรการลดเงินสมทบ ประกันสังคม เฟสที่ 2 จะมีระยะเวลา 3 เริ่มตั้งแต่การจ่ายค่าจ้างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2563

ผลกระทบ คือ นายจ้างจะมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นสูงสุด 450 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จะมีเงินติดกระเป๋าเพิ่มขึ้นสูงสุด 336-450 บาทต่อเดือน ดังนี้

  • นายจ้างของผู้ประกันตนมาตรา 33 ปกติส่งเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน หรือสูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน ให้ลดเหลือ 2% ของค่าจ้างผู้ประกันตน หรือสูงสุดไม่เกิน 300 บาทต่อเดือน ส่งผลให้นายจ้างเหลือเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นสูงสุด 450 บาทต่อเดือน
  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 (พนักงานเอกชน) ปกติส่งเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าจ้าง หรือสูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน ให้ลดเหลือ 2% ของค่าจ้าง หรือสูงสุดไม่เกิน 300 บาทต่อเดือน ส่งผลให้ลูกจ้างเหลือเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นสูงสุด 450 บาทต่อเดือน
  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 (ผู้เคยเป็นลูกจ้างมาตรา 33 มาก่อน แต่ได้ลาออกจากบริษัทเอกชนแล้ว) ได้รับการลดหย่อนเงินสมทบจาก 9% ของฐานเงิน 4,800 บาท หรือ 432 บาทต่อเดือน เหลือ 2% ของฐานเงิน 4,800 บาท หรือ 96 บาทต่อเดือน ส่งผลให้เหลือเงินในประเป๋าเพิ่มขึ้นสูงสุด 336 บาทต่อเดือน

ประกันสังคม เงินสมทบ 2%

หากจ่ายเงินสมทบเกินกว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้ นายจ้างและผู้ประกันตน สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินส่วนที่เกินคืนได้ที่ สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานคร (กทม.) พื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา โดยตรวจสอบที่ตั้งและเบอร์โทรศัพท์ได้ ที่นี่ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

เพิ่มเงินหมุนเวียน 2.4 หมื่นล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มาตรการลดเงินสมทบ ประกันสังคม รอบที่ 2 ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2563 จะเป็นการลดภาระให้แก่ผู้ประกันตนจำนวน 12.79 ล้านคน คิดเป็นเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท และนายจ้าง 4.87 แสนราย คิดเป็นเงิน 1.1หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 2.4 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ หากคิดเป็นจำนวนเงินที่จะประหยัดได้ของผู้ประกันตนมาตรา 33 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,022 บาท และ ผู้ประกันตนมาตรา 39 เฉลี่ย 1,008 บาท

รัชดา ธนาดิเรก 2

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 เดือนนี้ กองทุน ประกันสังคม จะจัดเก็บเงินสมทบได้น้อยลง

โดยกองทุนประกันสังคมคาดว่า จะจัดเก็บเงินสมทบได้ 26,463 ล้านบาท จากปกติที่ประมาณการจัดเก็บได้จำนวน 50,775 ล้านบาท หรือลดลง 24,313 ล้านบาท

ด้านประมาณการรายจ่ายประโยชน์ทดแทนในช่วง 3 เดือน คิดเป็นเงิน 46,667 ล้านบาท ทำให้เงินสมทบที่จัดเก็บต่ำกว่ารายจ่าย และต้องใช้เงินจากกองทุนฯ 17,204 ล้านบาท ส่งผลให้กองทุนเสียโอกาสในการลงทุน 1,077 ล้านบาท

 

ต้นปีลดไปแล้ว 1 รอบ

ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา กองทุน ประกันสังคม ได้มีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ด้วยการลดเงินสมทบของนายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ไปแล้วครั้งหนึ่ง เป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ดังนี้

  • นายจ้าง ลดอัตราเงินสมทบจากปกติ 5% หรือสูงสุด 750 บาทต่อเดือน เหลือ 4% หรือต้องจ่ายสูงสุด 600 บาทต่อเดือน ส่งผลให้นายจ้างเหลือเงินในกระเป๋าสูงสุด 150 บาทต่อเดือน
  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 ลดอัตราเงินสมทบจากปกติ 5% หรือสูงสุด 750 บาทต่อเดือน เหลือ 1% หรือสูงสุด 150 บาทต่อเดือน ส่งผลให้ลูกจ้างเหลือเงินในกระเป๋าเพิ่มสูงสุด 600 บาทต่อเดือน
  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 แต่ได้ลาออกจากบริษัทเอกชนแล้ว ลดอัตราเงินสมทบจากปกติ 432 บาทต่อเดือน เหลือ 86 บาทต่อเดือน หรือเหลือเงินในกระเป๋า 346 บาทต่อเดือน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo