Business

ไอคอนสยามเปิดต.ค. นี้ ส่ง ‘สุขสยาม’ นำร่องสู่ธุรกิจ4.0

ICONSIAM

ไอคอนสยามแล้วเสร็จ 85% ประกาศเปิดตัวตุลาคมนี้ พร้อมแนะนำ “สุขสยาม” เมืองต้นแบบการจัดแสดงมรดกทางวัฒนธรรมมูลค่า 700 ล้าน นำเสนอแนวคิด “Co-Creation” ค้าปลีกแบบใหม่ ด้วยการดึงชุมชน 77 จังหวัด 4 ภาคทั่วประเทศร่วมจัดแสดงศิลปะวัฒนธรรมตลอดปี ตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชม 21.9 ล้านคน

ใกล้จะได้ยลโฉมกันแล้วสำหรับอภิมหาโปรเจ็คริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามูลค่า 54,000 ล้านบาทของสยามพิวรรธน์ โดยความคืบหน้าล่าสุดของโครงการไอคอนสยาม ณ เดือนเมษายนนี้คือการออกมาประกาศถึงการจัดสรรพื้นที่แนวใหม่ขนาด 10 ไร่ในชั้น G ของไอคอนสยามซึ่งเรียกได้ว่าเป็นทำเลทอง เพื่อสร้างเป็นเมืองแห่งวิถีไทย ภายใต้ชื่อ “สุขสยาม” สำหรับนำเสนอผลิตภัณฑ์และผลงานจากชุมชนต่าง ๆ ของไทยใน 4 ภาค รวมถึงเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ วัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย

นอกจากนำเสนอความโดดเด่นของไลฟ์สไตล์แบบไทยดั้งเดิมแล้ว โมเดลของสุขสยามยังมีการนำเทคโนโลยีการบริหารจัดการข้อมูลเข้าประยุกต์ใช้กับพื้นที่ดังกล่าวด้วย ซึ่งจะทำให้การจัดการร้านค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการนำจอดิจิทัลอินเทอร์แอคทีฟมาติดตั้งเพื่อให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์เด่น ๆ ของแต่ละชุมชนพร้อมแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ถึง 7 ภาษา ทำให้แบรนด์สามารถสื่อสารได้อย่างไม่ติดขัดกับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้มาเยี่ยมเยือนทั้งสิ้น 21.9 ล้านคนต่อปี

iconsiam              บรรยากาศจำลองของสุขสยาม

“ร้านค้าในสุขสยามจะเป็นร้านค้าท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง และมีตัวตนอยู่จริงในจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา ร้านค้าเหล่านั้นอาจมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งในชุมชน แต่ยังไม่มีโอกาสได้นำเสนอภูมิปัญญาให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศหรือระดับโลก จึงเป็นโอกาสอันดีที่ สุขสยามจะได้เปิดพื้นที่ให้แบรนด์ท้องถิ่นได้นำเสนอความภาคภูมิใจดังกล่าว” นางชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัดกล่าว

ตัวอย่างแบรนด์สินค้าที่จะนำเสนอในพื้นที่ของสุขสยามได้แก่ กาละแมสดศีขรภูมิ ตราปราสาทเดียว จากจังหวัดสุรินทร์, ปั้นสิบเพลินตา จากจังหวัดสมุทรปราการ, ลิเภาครูมณฑา จากจังหวัดนครศรีธรรมราช, หัตถกรรมกระจูดวรรณี จังหวัดพัทลุง เป็นต้น

โดยในพื้นที่ของสุขสยามที่มีขนาด 10 ไร่ซึ่งครอบคลุมชั้น 1 ของอาคารนั้นจะถูกจัดแบ่งเป็น 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ, ภาคใต้, ภาคอีสานและภาคกลาง ประกอบด้วยร้านค้าและบริการมากกว่า 3,000 ราย รวมถึงการจัดการแสดงพื้นบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่นต่าง ๆ

iconsiam
(ซ้ายไปขวา) นายชยะพงศ์ นะวิโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการสุขสยาม, นางชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และนางลักขณา นะวิโรจน์ ประธานกรรมการโครงการสุขสยาม

ขณะที่นางลักขณา นะวิโรจน์ ประธานกรรมการโครงการสุขสยาม กล่าวเสริมว่า โมเดลของสุขสยามจะแตกต่างจากวงจรของการออกร้านทั่วไปที่ประเทศไทยเคยมีมา โดยอยู่ในรูปของการแบ่งรายได้ในการจัดการพื้นที่แทนการเช่าพื้นที่เพื่อขายสินค้า

“อยากให้มองสุขสยามเป็นการสอนให้ธุรกิจท้องถิ่นเข้าใจการทำธุรกิจในยุค 4.0 ที่เราจะมีการเก็บข้อมูลสถิติตลอด เปรียบได้กับสุขสยามเป็นแพลตฟอร์มในการนำเสนอความภูมิใจในความเป็นไทยที่มีการบริหารจัดการแบบใหม่”

Avatar photo