Business

‘โควิด’ ทุบไทยถังแตก เบรกลงทุนสร้าง ‘รถไฟทางคู่เฟส 2’ วงเงิน 2.7 แสนล้าน

“โควิด-19” ทุบไทยถังแตก สั่งเบรกลงทุนสร้าง “รถไฟทางคู่เฟส 2” เหลือเส้นทาง ขอนแก่น-หนองคาย สายเดียว

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดี กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยถึงผลการประชุมการจัดลำดับความสำคัญของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟส 2 ที่มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน วันนี้ (2 ก.ย. 63) ว่า ที่ประชุมมีมติให้กรมรางฯ กลับไปทบทวนและจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนก่อสร้าง รถไฟทางคู่ เฟส 2 จำนวน 7 โครงการ ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 2.7 แสนล้านบาทใหม่ทั้งหมด

รถไฟทางคู่เฟส 2

เนื่องจากเห็นว่า สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่รัฐบาลเองก็มีภาระหนี้สาธารณะที่สูง จึงควรจะลงทุนเฉพาะโครงการที่มีความจำเป็นเท่านั้น ประกอบกับผลการศึกษาบางโครงการพบว่า มีอัตราผลตอบแทนทางการเงินต่ำไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

การทบทวนโครงการลงทุน รถไฟทางคู่เฟส 2 อาจจะทำให้บางโครงการต้องเลื่อนออกไปก่อน เพื่อรอเวลาลงทุนที่เหมาะสม แต่จะไม่ใช่การยกเลิกโครงการทั้งหมด โดยกรมรางฯ จะใช้เวลาศึกษาทบทวนและจัดลำดับโครงการราว 3 เดือน ราวปลายปีนี้จะได้ข้อสรุปว่าจะลงทุนโครงการใดก่อนหลัง และกลับมาเสนอที่ประชุมอีกครั้ง

“จากการพิจารณาเบื้องต้นที่ประชุมเห็นว่า มีความจำเป็นต้องเร่งผลักดันโครงการ รถไฟทางคู่ ขอนแก่น-หนองคาย ก่อน เพราะมีความพร้อมและเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังจีนตอนใต้และประเทศลาว รวมทั้งยังมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าที่ 19% แต่อาจจะต้องไปปรับแบบให้มีการก่อสร้างสถานีรถไฟบรรจุและแยกสินค้ากล่องสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง หรือ Inland Container Depot (ICD)  ที่มีสถานีศุลกากรด้วย แทน การก่อสร้างแค่ย่านกองเก็บสินค้า (Container Yard: CY) ตั้งเป้าจะเร่งรัดเสนอโครงการให้ ครม. พิจารณาอนุมัติได้ภายในปีนี้  ส่วนอีก 6 โครงการที่เหลือต้องรอผลการศึกษาจากกรมรางฯ ก่อน” นายสรพงศ์กล่าว

รถไฟทางคู่เฟส 2

รายงานข่าวจากการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาผลการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ รถไฟทางคู่เฟส 2 โดยพิจารณาจากการเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟระหว่างประเทศ/เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การเชื่อมโยงเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค การเชื่อมโยงโครงข่ายทางคู่ปัจจุบัน การเชื่อมโยงเมืองหลักด้านการท่องเที่ยว พบลำดับความสำคัญ ดังนี้

  • ลำดับที่ 1 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย
  • ลำดับที่ 2 ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี
  • ลำดับที่ 3 ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี
  • ลำดับที่ 4 ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา
  • ลำดับที่ 5 ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย
  • ลำดับที่ 6 ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์
  • ลำดับที่ 7 ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่

ส่วนการพิจารณาเสนอขออนุมัติโครงการใดก่อน-หลังนั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่า โครงการ รถไฟทางคู่ นั้นเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงเห็นควรให้การรถไฟฯ เสนอโครงการฯ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย จำนวน 1 โครงการก่อน เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนระบบเศษฐกิจของประเทศ อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์จากจีน ลาว และไทย ลงมาถึงแหลมฉบังได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ การรถไฟฯ เร่งจัดทำแผนการจัดหารถจักรและล้อเลื่อน กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แนวทางการปรับปรุงแบบการบริหารจัดการและระบบโลจิสติกส์ และแผนการใช้ประโยชน์จากโครงการ รถไฟทางคู่ ระยะที่ 1

รวมทั้งขอให้สำนักงานนโยบายและแผนขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างไทย -มาเลเซีย – สิงคโปร์ โดยให้ครอบคลุมยุทธศาตร์ ยุทธวิธี และความมั่นคงของประเทศด้วย

รถไฟ

สำหรับโครงการ รถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทาง ประกอบไปด้วย

1.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 62,859.74 ล้านบาท

2.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 56,837.78 ล้านบาท

3.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 25,842 ล้านบาท

4.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตรวงเงิน 37,527.10 ล้านบาท

5.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร วงเงิน 24,294.36 ล้านบาท

6.ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงิน 57,375.43 ล้านบาท

7.ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 6,661.37 ล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo