Business

‘นกแอร์’ แจ้งผลประกอบการครึ่งปี 63 ขาดทุน 3.7 พันล้าน ยอดหนี้ 3.4 หมื่นล้าน

“นกแอร์” แจ้ง ผลประกอบการ งวดครึ่งปี 63 ขาดทุนหนัก 3.7 พันล้าน เหตุพิษโควิด-ปิดนกสกู๊ต-มาตรฐานบัญชีใหม่ ด้านยอดหนี้ทะยานไม่หยุด พุ่งเป็น 3.4 หมื่นล้าน

วันนี้ (1 ก.ย. 63) บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK แจ้งผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ในไตรมาสที่ 2 สายการบินนกแอร์ขาดทุนส่วนที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจำนวน 139 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของก่อนที่ขาดทุน 700 ล้านบาท ด้านงวด 6 เดือน ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 ขาดทุนส่วนที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท 2,469 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขาดทุน 1,004 ล้านบาท

นกแอร์ ผลประกอบการ

ด้านงบการเงินรวมของบริษัทและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมในไตรมาสที่ 2 จำนวน 796.41 ล้านบาท ลดลง 1.15% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และงบการเงินรวมสำหรับงวด 6 เดือนของปี 2563 ขาดทุน 3,750.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 215.79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนรวมจำนวน 1,187.70 ล้านบาท

 

3 ปัจจัยทำ ผลประกอบการ “นกแอร์” ขาดทุนยับ

ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้การเดินทางทางอากาศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศที่เข้มข้นและมาตรการปิดเมืองของภาครัฐในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563

นอกจากนี้ยังมีการใช้ มาตรฐานบัญชีรายงานงบการเงินฉบับที่ 16 เรื่องสัญญาเช่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ทำให้บริษัทรับรู้ผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากบริษัทมีสัญญาเช่าระยะยาวที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศ

รวมถึงการแจ้ง เลิกกิจการบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด (บริษัทย่อย) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 อันเป็นผลทำให้บริษัทรับรู้การดำเนินงานของบริษัทย่อยที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่องจำนวน 1,187.70 ล้านบาท

สายการบินนกแอร์

ยอดหนี้พุ่งแตะ 3.4 หมื่นล้าน

งบการเงินรวมสำหรับงวด 6 เดือนของปี 2563 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 3,367.61 ล้านบาท ลดลง 47.96% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทรวมอยู่ที่ 5,425.03 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 26.45% ซึ่งลดลงในอัตราที่ต่ำกว่ารายได้ที่ลดลง

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 สายการบินนกแอร์ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม 28,948.17 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 90.81% จากสิ้นปี 2562 โดยแบ่งเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน 8,068.58 ล้านบาทและสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนจำนวน 20,879.59 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 27.87% และ 72.13% ตามลำดับ

ด้านหนี้สิน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 อยู่ที่ 34,873.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87.10% จากสิ้นปี 2562 สาเหตุหลักมาจากการับรู้รายการหนี้สินตามสัญญาเช่าจากการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 มาใช้เป็นจำนวนเงิน 15,007.95 ล้านบาท

สายการบินนกแอร์ และบริษัทย่อยมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบจำนวน 5,925.04 ล้านบาท เปลี่ยนแปลง 70.84% จากสิ้นปี 2562 โดยเป็นของบริษัทใหญ่จำนวน 2,270.99 ล้านบาท และส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมติดลบอีก 3,654.05 ล้านบาท

สำหรับงวด 6 เดือนของปี 2563 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบกับเงินสดคงเหลือ 1,100.20 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 133.59 ล้านบาท จากสิ้นปี 2562

S 43860040

“สายการบินนกแอร์” ขอฟื้นฟูกิจการ

โดยก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) สายการบินนกแอร์ วาระพิเศษครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ได้มีมติอนุมัติให้นกแอร์ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯ ต่อ ศาลล้มละลายกลาง ภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯ ดังกล่าวไว้พิจารณาแล้วในวันเดียวกัน เป็นคดีดำ ฟฟ 21/2563 และนัดไต่สวนคำร้องฯ ในวันที่ 27 ตุลาคม 2563 เวลา 09.00 น. ส่งผลให้สายการบินนกแอร์อยู่ในสภาวะ พักการชําระหนี้ (Automatic Stay) โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553 สายการบินนกแอร์ มีหนี้สินต่อเจ้าหนี้หลายรายรวมกันเป็นจำนวน 26,522,203,418 บาท

นอกจากนี้ บริษัทได้เสนอให้ บริษัท แกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ นายปริญญา ไววัฒนา, นายไต้ ชอง อี, นายเกษมสันต์ วีระกุล, นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร และนายชวลิต อัตถศาสตร์ กรรมการของบริษัทเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo