Business

ผลักดัน ‘กัญชง’ ขึ้นแท่น พืชเศรษฐกิจใหม่ ‘อนุทิน’ หนุนวิจัยแปรรูป

ผลักดัน กัญชง ขึ้นแท่น พืชเศรษฐกิจใหม่ “อนุทิน” หนุนนวัตกรรม งานวิจัยแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ สร้างรายได้ให้กับคนไทย เปิดตลาดส่งออก

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในเวทีปาฐกถาพิเศษ “กัญชงพืชเศรษฐกิจใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ว่า พร้อมผลักดัน กัญชง ขึ้นแท่น พืชเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม งานวิจัย และพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการให้ปลูก แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ออกสู่ท้องตลาด และส่งออก

ผลักดัน กัญชง

ทั้งนี้ เป็นไปตาม นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ในการส่งเสริม กัญชง ให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ขับเคลื่อนนโยบาย ผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารยา มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ยกเว้นสารสกัดจากกัญชง และบางส่วนของพืชกัญชง โดยไม่ต้องถูกควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5

การประกาศยกเว้นดังกล่าว เพื่อให้สามารถนำ กัญชง นำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต และแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ยา สมุนไพร อาหาร และเครื่องสำอาง

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำกฎกระทรวง เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือ มีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) เพื่อใช้ประโยชน์ ในระดับครัวเรือน และอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกนำรายได้เข้าสู่ประเทศ

อนุทิน 1
อนุทิน ชาญวีรกูล

สำหรับการประชุมครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข เน้นการสร้างความแข็งแกร่ง ของผู้ประกอบการ ภาคเกษตรกรรมอุตสาหกรรม สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับกฎระเบียบหลักเกณฑ์ฉบับใหม่ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ เพื่อส่งเสริมการปลูก และการแปรรูป กัญชง เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

พร้อมกันนี้ ยังรวมถึง การนำเสนอนวัตกรรมกัญชง จากงานวิจัย สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยสร้างความเชื่อมโยง ระหว่างเกษตรกร (ต้นน้ำ) ผู้ประกอบธุรกิจ (กลางน้ำและปลายน้ำ) ได้แลกเปลี่ยนแนวคิด มุมมองเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาด ให้เป็นที่ต้องการในตลาดโลก

“ตนมีนโยบายให้ทุกกรม ส่งเสริมและสนับสนุน การนำกัญชาและกัญชง ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา ได้เปิดโอกาสให้ใช้ประโยชน์จากกัญชา เพื่อการแพทย์ เนื่องจากมีสาร THC เด่น ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและทำให้เสพติด จึงต้องมีการกำกับดูแลอย่างเข้มข้น มีระบบติดตามและตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านยาเสพติด” นายอนุทิน กล่าว

อนุทิน1 2

ส่วนกัญชงนั้น เป็นการสนับสนุนให้ใช้ในทางอุตสาหกรรม เนื่องจากมีสาร THC ในปริมาณน้อย แทบไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มีสาร CBD เด่น มีประโยชน์ในทางการแพทย์และอุตสาหกรรมสุขภาพ และเกือบทุกส่วนของกัญชงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งประเทศไทย มีภูมิอากาศ และสภาพแวดล้อม ที่เหมาะกับการปลูกกัญชง ถือเป็นโอกาสดี ที่ประชาชนจะสร้างรายได้ และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ “กัญชง” หรือเรียกอีกอย่างว่า “เฮมพ์​ (Hemp)” เป็นพืชในวงศ์ CANNABACEAE เป็นวงศ์เดียวกับ “กัญชา” หรือ Marijuana ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพบางอย่างคล้ายคลึงกัน แต่ก็ยังสามารถแยกแยะได้ จากลักษณะลำต้นและใบ

โดยกัญชง จะมีลักษณะต้นสูงกว่าและใบที่เรียวยาวและสีอ่อนกว่ากัญชา และนอกจากลักษณะทางกายภาพแล้ว กัญชงยังมีลักษณะทางเคมี ที่แตกต่างกับกัญชาอีกด้วย โดยกัญชง มีปริมาณของสารทีเอชซี ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทค่อนข้างต่ำ ในขณะที่มีสารซีบีดี ที่ช่วยในการรักษาโรคบางชนิดในปริมาณที่สูงกว่ากัญชา

กัญชง แยกได้ 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มใช้ประโยชน์จากเส้นใย จะมีความเหนียว เหมาะกับการนำมาใช้ประโยชน์ ทั้งเครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ เสื้อเกราะ ฉนวนความร้อนในอุตสาหกรรมต่างๆ ฯลฯ

2. กลุ่มใช้เมล็ด จะไม่มีสารซีบีดี และทีเอชซี แต่มีประโยชน์ในเรื่องสารต้านอนุมูลอิสระ มีโอเมก้า-3 เรียกว่าเป็นน้ำมันคุณภาพ ใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

3. กัญชงที่เน้นให้สารซีบีดีสูง ตรงนี้สามารถนำประโยชน์ซีบีดีมาใช้ได้เยอะ อย่างเครื่องสำอาง หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์กลุ่มรักษาสิว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo