Business

อีคอมเมิร์ซไทย ครองแชมป์ B2C สูงสุดในอาเซียน 5 ปีซ้อน

อีคอมเมิร์ซไทย ครองแชมป์มูลค่า B2C สูงสุด 5 ปีซ้อน ในอาเซียน ETDA คาดปี 63 โตก้าวกระโดด รับ New Normal หลังโควิด-19 คนแห่ซื้อออนไลน์พุ่ง

นายชาติชาย สุทธาเวศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA เปิดเผยว่า จากการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย หรือ อีคอมเมิร์ซ พบว่า ภาพรวมมูลค่า อีคอมเมิร์ซไทย แบบ B2C ในกลุ่มประเทศอาเซียน ปี 2561 ไทยครองแชมป์มูลค่าสูงสุด 5 ปีซ้อน

อีคอมเมิร์ซไทย

ทั้งนี้พบว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ในไทยรวมกว่า 4.65 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากปี 2560 ถึง 99.61% รองลงมาคือ มาเลเซีย 2.15 หมื่นล้านเหรียญฯ อินโดนีเซีย 9.5 พันล้านเหรียญฯ เวียดนาม 7.65 พันล้านเหรียญฯ และสิงคโปร์ 4.94 พันล้านเหรียญฯ และคาดว่าปี 2563 หลายประเทศมีแนมโน้มปรับตัวอย่างก้าวกระโดด

สำหรับ มูลค่า อีคอมเมิร์ซ ในประเทศไทย พุ่งทะยานแตะ 4.02 ล้านล้านบาทในปี 2562 หรือเติบโตขึ้น 6.91% จากปี 2561 ที่มีมูลค่ารวมกว่า 3.76 ล้านล้านบาท ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่า 2.76 ล้านล้านบาท ถึง 36.36%

ขณะที่รายได้ส่วนใหญ่ มาจากการขายสินค้าและบริการทางออนไลน์ ภายในประเทศถึง 91.29% อีกทั้งยังคาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกครั้ง ในปี 2563 จากพฤติกรรม New Normal ที่คนไทยซื้อขาย สินค้าออนไลน์มากขึ้น

ด้านมูลค่าอีคอมเมิร์ซ จำแนกตามประเภทผู้ประกอบการ พบว่า ในปี 2561 ผู้ประกอบการ กลุ่ม B2B ครองแชมป์มูลค่าสูงสุดต่อเนื่อง 6 ปีซ้อน มีมูลค่าสูงถึง 1.80 ล้านล้านบาท รองลงมา คือ กลุ่ม B2C 1.41 ล้านล้านบาท และกลุ่ม B2G 5.55 แสนล้านบาท

มูลค่า e Commerce 01

สำหรับปี 2562 มูลค่าจะเพิ่มขึ้น โดยกลุ่ม B2G เพิ่มมากสุดถึง 11.53% เป็น 6.19 แสนล้านบาท ขณะที่ กลุ่ม B2B และ B2C เพิ่ม 6.11% เป็น 1.91 ล้านล้านบาท และ 1.49 ล้านล้านบาท ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 มีหลายประเด็นน่าจับตา โดยเฉพาะการเติบโตของ กลุ่ม B2C ที่เป็นผลมาจากการปรับตัวของผู้บริโภครายย่อย ช่วงกักตัวอยู่บ้าน ที่ทำให้การใช้จ่ายออนไลน์เพิ่มขึ้น ส่วน B2G อาจตกอันดับไม่เติบโตสูงสุดอีกต่อไป หากการเบิกจ่าย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2563 ล่าช้า การจัดซื้อจัดจ้างหยุดชะงักช่วงโควิด-19

ค้าปลีก-ค้าส่ง มูลค่านำอุตสาหกรรมอื่น

มูลค่าอีคอมเมิร์ซ จำแนกตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่า จากการคาดการณ์ปี 2562 อุตสาหกรรมที่มูลค่าสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มูลค่า 1.29 ล้านล้านบาท รองลงมา คือ อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก 9.81 แสนล้านบาท และอุตสาหกรรมการผลิต 4.99 แสนล้านบาท

อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 4.34 แสนล้านบาท อุุตสาหกรรมการขนส่ง 1.55 แสนล้านบาท อุุตสาหกรรมการบริการอื่น ๆ 2.32 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 1.54 หมื่นล้านบาท และอุตสาหกรรมการประกันภัย 582 ล้านบาท ตามลำดับ

ส่วนในปี 2563 นี้ คาดว่า อุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่งจะมีมูลค่า อีคอมเมิร์ซ พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากยอดการเข้าถึงแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ และภาพรวมคำสั่งซื้อ ในช่วงสถานการณ์การป้องกันการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา สวนทางกับมูลค่าของอุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก ที่คาดว่าจะมีมูลค่าลดลง เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง และโรงแรมในประเทศต่างต้องปิดตัวชั่วคราวหลายแห่ง

มูลค่า e Commerce 02

เมื่อเจาะลึกถึงมูลค่า อีคอมเมิร์ซ  ในอุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่ง จำแนกตามประเภทสินค้าและบริการ (ไม่รวมการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ) พบว่า จากการปี 2562 ประเภทสินค้าและบริการ 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่

ธุรกิจห้างสรรพสินค้า 9.39 แสนล้านบาท เพิ่มจาก 9.11 แสนล้านบาทในปี 2561 รองลงมา คือ เครื่องสำอางและอาหารเสริม 1.54 แสนล้านบาท เพิ่มจาก 1.45 แสนล้านบาทในปี 2561

ตามด้วย แฟชั่น เครื่องแต่งการและเครื่องประดับ 9.68 หมื่นล้านบาท ลดลงจาก 1.01 แสนล้านบาท เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน 3.57 หมื่นล้านบาท ลดลงจาก 3.30 หมื่นล้านบาท และอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตผลทางการเกษตรและประมง 3.51 หมื่นล้านบาท เพิ่มจาก 3.37 หมื่นล้านบาท

อุตสาหกรรมไหน น่าจับตา

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากอัตราการเติบโตมูลค่า อีคอมเมิร์ซ ตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ช่วงปี 2561-2562 อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ เติบโตสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมการประกันภัย เติบโตถึง 33.62% รองลงมา คือ อุตสาหกรรมการขนส่ง 31.30% และอุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ 21.63%

ประเภทสินค้าและบริการ ในกลุ่มอุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ ที่มีมูลค่าเติบโตจากปี 2561 มากที่สุด คือ ธุรกิจการศึกษา บริการที่เกี่ยวข้องแอปพลิเคชัน เพิ่มขึ้น 42.56% รองลงมา คือ ธุรกิจเพลง โรงภาพยนต์และ e-Movie เพิ่มขึ้น 31.55% และ ธุรกิจเกมออนไลน์ เพิ่ม 2.52%

ชาติชาย สุทธาเวศ
ชาติชาย สุทธาเวศ

ทั้งนี้ ยังคาดการณ์ว่า ในปี 2563 การเติบโตมูลค่าอีคอมเมิร์ซ ในอุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการอาจแนวโน้มลดลง เนื่องจากการเข้ามาของ Media Streaming Platform ของต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสัดส่วนมูลค่าของ ดิจิทัล มีเดีย เช่น Facebook YouTube LINE และ TikTok ที่เติบโตขึ้น

 

SMEs ในปี 2563 คาดมีทิศทางมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น

มูลค่าอีคอมเมิร์ซ จำแนกตามขนาดธุรกิจ คาดการณ์ปี 2562 ผู้ประกอบการองค์กร จะมีมูลค่า 2.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึง 8.94% และผู้ประกอบการ SMEs มีมูลค่า 1.19 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.27%

ภาพรวมของ SMEs ในปี 2563 คาดว่า อาจมีทิศทางมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ประกอบการรายย่อยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวของร้านค้าและประชาชนที่เข้าสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น โดยข้อมูลจาก ลาซาด้าแพลตฟอร์ม พบ ช่วงเดือน มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นกว่า 26,000 รายและยังเกิดช่องทาง โซเชียล คอมเมิร์ซ ใหม่ ๆ

ช่องทางการตลาดไหน ฮิตสุด

การประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ ผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ ของผู้ประกอบการ นับว่าเป็นประเด็นสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของมูลค่าอีคอมเมิร์ซ  เพราะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค โดยปี 2561 พบว่า ช่องทางการตลาดออนไลน์ที่ ผู้ประกอบการ SMEs เลือกใช้มากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ LINE 32.10%

social 3064515 640

 

รองลงมา คือ Facebook Ads 30.27% Instagram Ads 26.83 ช่องทางอื่น ๆ เช่น การจ้าง Influencer ให้รีวิวสินค้าผ่าน TikTok 5.00% และ Google Ads 2.80%

ด้านช่องทางที่ผู้ประกอบการองค์กร เลือกใช้มากที่สุด ได้แก่ Facebook ถือเป็นช่องทางการตลาดออนไลน์ที่มีผลตอบแทนการลงทุนดี และสร้างยอดขายได้มากที่สุด 95.00% รองลงมา คือ Google Ads 75.00% LINE 60.00% Instagram Ads 35.00% และ YouTube 30.00%

“คาดการณ์ปี 2563 ช่องทางการตลาดดิจิทัลใหม่มาแรงคงหนีไม่พ้น TikTok เพราะจากข้อมูลในไตรมาสแรกปี 2563 TikTok มีจำนวน users ในไทยมากกว่า 10 ล้าน users และได้รับการดาวน์โหลดแล้ว 315 ล้านครั้ง นับเป็นยอดการดาวน์โหลดสูงสุดเท่าที่เคยมีมา”นายชาติชาย กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo