Business

ไอเดียบรรเจิด! รถเก่าแลกใหม่ กำจัดซากรถ 3 ล้านคัน กระตุ้นตลาดรถ

รถเก่าแลกใหม่ รมว. อุตสาหกรรม จ่อหารือคลัง นำรถเก่าอายุ 10-15 ปี มาแลกซื้อรถยนต์ใหม่ ลดหย่อนภาษีได้ หวังกำจัดซากรถเก่า กระตุ้นยอดรถใหม่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในงานสัมมนา “New Generation of Automotive” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ภายใน 2 สัปดาห์ หนึ่งในแนวทางการช่วยเหลือคือ รถเก่าแลกใหม่

รถเก่าแลกใหม่

ทั้งนี้จะส่งเสริมการนำรถยนต์เก่าที่มีอายุ 15-20 ปี มาแลกรถยนต์ใหม่ โดยผู้ร่วมโครงการ จะสามารถหักลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท

แนวทางดังกล่าว จะช่วยแก้ปัญหาซากรถยนต์เก่า ที่มีอยู่ถึง 3 ล้านคัน เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธ ซึ่งจะช่วยลดมลพิษ รวมทั้งยังเป็นการ กระตุ้นตลาดรถยนต์ ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวด้วย

นอกจากการหารือร่วมกับ กระทรวงการคลังแล้ว จะมีการหารือกับเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการดำเนินงาน ซึ่งเบื้องต้นจะเร่งสรุปแนวทางทั้หมดใน 2-3 เดือน โดยวางกรอบโครงการจะมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี

สำหรับผู้ที่นำรถยนต์เก่า มาแลกรถยนต์ใหม่ จะมี 2 ส่วนคือ สำหรับผู้ที่เสียภาษีอยู่แล้ว ก็สามารถนำเงินจากการซื้อรถใหม่ ไปหักลดหย่อนภาษีปลายปี ไม่เกิน 1 แสนบาท และส่วนผู้ที่ไม่ได้เสียภาษี ก็จะได้รับคูปองส่วนลดราคา เพื่อซื้อรถใหม่

สุริยะ 1
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ส่วนการกำจัดซากรถนั้น ให้เป็นไปตามนโยบาย ที่มุ่งเน้นสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีเป้าหมายลด PM 2.5 และเศษซาก มาสร้างประโยชน์ใหม่ หลักการเบื้องต้น จะมีการตั้งกองทุน เพื่อระดมเงินในการบริหารจัดการซากรถเก่า ซึ่งรูปแบบ จะมีการตั้งศูนย์รวบรวมกำจัดซาก และการส่งเสริม ให้เกิดโรงงานกำจัดซากเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีอยู่ 1 ราย ซึ่งไม่เพียงพอ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายและมาตรการ ที่จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก โดยในปี 2562 มีการผลิตอยู่ในอันดับที่ 11 ของโลก ให้สามารถปรับตัวและต่อยอดเทคโนโลยีการผลิตเดิม เพื่อคงไว้ซึ่ง ขีดความสามารถในการแข่งขัน

“อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เป็นอุตสาหกรรมเดิม ที่มีศักยภาพ และมีบทบาทสำคัญ ในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ”นายสุริยะ กล่าว

รถ

พร้อมกันนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดแผนพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการผลักดัน เพื่อให้เกิดการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และการผลิตชิ้นส่วน ที่สำคัญภายในประเทศ โดยมีมาตรการสนับสนุน การผลิต รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ในประเทศไทย ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการ ตามมาตรการสนับสนุนการผลิตยานยนต์ ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ในประเทศไทย โดยการบูรณาการทำงานร่วมกัน ระหว่างหน่วยงาน ให้สอดคล้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

แนวทางการทำงาน จะมีมาตรการครอบคลุมทุกด้าน ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างอุปทาน (Supply) มาตรการกระตุ้นตลาดในประเทศ (Demand) การเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน การจัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า การบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว และมาตรการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายจาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัดและบริษัทเอ็มจี เซลล์ (ประเทศไทย)จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ MG เปิดตัว รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) NEW MG ZS EV มาเกือบ 1 ปีแล้วซึ่งก็พบว่าผู้บริโภคให้การต้อนรับพอสมควร แต่ก็ยอมรับว่าผู้ใช้เอง ยังกังวลที่รถยนต์อาจวิ่งได้ไม่ไกล เนื่องจากสถานีชาร์จไฟฟ้ายังมีน้อย

ดังนั้น บริษัทจึงวางแผนลงทุนสถานีชาร์จ 100 แห่งในเฟสแรก และยังเตรียมเฟส 2 และ 3 ไว้ต่อเนื่อง โดยระยะแรก จะเน้นติดตั้งที่โชว์รูมที่มีทุกจังหวัดทั่วประเทศ เฟส 2 จะเลือกเส้นทางหลักเช่น ทางด่วน และเฟส 3 จะเพิ่มในศูนย์กลางการค้าและสำนักงาน โดยคาดว่า จากการลงทุนของหลายภาคส่วน จะทำให้ภายในกลางปี 2564 สถานีชาร์จรถไฟฟ้าจะไม่ใช่เรื่องกังวลสำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอีกต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo