Business

โควิด-19 ฉุดรายได้ ‘ดีลเลอร์รถยนต์’ หดตัว 25% คาด 2 ปีถึงจะฟื้นตัว

ดีลเลอร์รถยนต์ รายได้วูบ 25% ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย คาดใช้เวลาฟื้นตัวไม่ต่ำกว่า 2 ปี แนะผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยี ยกระดับการขายและบริการ

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ของไทยในปี 2563 ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อธุรกิจตัวแทนจัดจำหน่ายรถยนต์มือหนึ่ง หรือ ดีลเลอร์รถยนต์ ที่รายได้ส่วนใหญ่เกือบ 85% มาจากการขายรถยนต์

ดีลเลอร์รถยนต์

ทั้งนี้ ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มือหนึ่ง หรือ ดีลเลอร์รถยนต์มือหนึ่งในไทย ณ สิ้นปี 2562 มีจำนวนท้ังหมด 1,940 ราย โดยส่วนใหญ่เป็น ผู้ประกอบการขนาดย่อม (รายได้ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี) มากที่สุด ที่ 840 ราย คิดเป็นสัดส่วน 43.4%

รองลงมาได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ (รายได้มากกว่า 500 ล้านบาทต่อปี) มีประมาณ 590 ราย สัดส่วน 30.4% และ ผู้ประกอบการขนาดกลาง ประมาณ 510 ราย (รายได้ 100-500 ล้านบาทต่อปี) คิดเป็นสัดส่วน 26.2%

แต่หากพิจารณาในเชิงมูลค่าตลาดธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.07 ล้านล้านบาทในปี 2562 ที่ผ่านมา จะพบว่า ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เป็นกลุ่มครองส่วนแบ่งตลาดมากสุดที่ 85.9% ตามด้วย ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม รองลงมาที่ 12.4% และ 1.7% ตามลำดับ

ธุรกิจ ดีลเลอร์รถยนต์

การหดตัวของรายได้ดีลเลอร์รถยนต์ สะท้อนได้จาก ยอดขายรถยนต์ในประเทศในครึ่งแรกของปี 2563 อยู่ที่เพียง 330,000 คัน หดตัว 37.5% ประเมินว่ายอดขายทั้งปี จะอยู่ที่ 620,000 คัน หรือหดตัวถึง 38.2% โดยประมาณการว่า รายได้ของธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ในภาพรวม มีแนวโน้มลดลง 25% เทียบกับปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี ต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งหมด ของดีลเลอร์รถยนต์ ไม่สามารถปรับลงได้เท่ากับรายได้ที่หายไป ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ของผู้ประกอบการมีแนวโน้มแย่ลง จากกำไรที่ 1-1.2% ในช่วงปี 2560-2562 เป็นติดลบ 4.8% ในปี 2563

นอกจากนี้ คาดว่าสัดส่วนของผู้ประกอบการ ที่มีกำไรสุทธิติดลบ จะเพิ่มขึ้นจาก 24% ในปีที่ผ่านมา เป็น 36% ในปีนี้ โดยกว่าสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะกลับมาอยู่ในช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 หรือที่ประมาณ 1 ล้านคัน จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี

ดีลเลอร์รถยนต์

ดร.มานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากภาวะเศรษฐกิจ ที่หดตัวอย่างรุนแรง เป็นตัวฉุดกำลังซื้อของผู้บริโภคแล้ว ธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจแบบดั้งเดิม (Brick and Mortar) กำลังเผชิญกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เปลี่ยนไป จากการแพร่ระบาดของโควิด-19

นั่นคือ ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเข้าไปยังโชว์รูมน้อยลง การปิดการขาย จึงจะยากขึ้นกว่าเดิม ทำให้เป็นสถานการณ์ที่ท้าทาย ธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ เป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการจึงควรรักษาฐานลูกค้าเดิมอย่างต่อเนื่อง ทำการตลาดเชิงรุก เพื่อรองรับกับความต้องการซื้อ ที่อาจกลับมาหลังการแพร่ระบาดคลี่คลาย รวมทั้งนำกลยุทธ์ของดีลเลอร์ในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะการยกระดับการขายและบริการ เข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitalize) ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในระยะยาว

สำหรับกลยุทธ์ที่ ธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ ควรทำทันที คือ การรักษาความสัมพันธ์ กับกลุ่มลูกค้าเดิม ตลอดช่วงของการล็อกดาวน์ และการทำตลาดเชิงรุก ในการหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ ในช่วงหลังคลายล็อกดาวน์

ซื้อรถ
pile of money coins and key, concept in insurance,loan,finance and buying car background

ส่วนในระยะยาวนั้น แนะนำให้ผู้ประกอบการ ปรับแนวทางการทำธุรกิจ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะการนำขั้นตอนการขายและบริการ เข้าสู่ระบบดิจิทัล เช่น การแสดง หรือรีวิวรถยนต์ ในช่องทางออนไลน์ ที่มีความคมชัดสูง การนัดทดลองขับ (Test-drive) ณ ที่พักอาศัยของผู้บริโภคผ่าน แอปพลิเชั่น ไปจนถึงการเพิ่มช่องทางการขายแบบ Omni-channel เป็นต้น

“กลยุทธ์ดังกล่าว จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดในยุค New Normal เห็นได้ชัดจากยอดขายของบริษัท ที่ใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก อย่าง Tesla ที่ติดลบเพียง 5% ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เทียบกับค่ายรถยนต์อื่น ๆ ในสหรัฐฯ อย่าง Ford และ GM ที่ลดลงมากกว่า 30% ในช่วงเวลาเดียวกัน”ดร.มานะ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo