Business

ประกันสังคมแนะ! ลูกจ้าง ‘ตกงาน-ลาออก’ อย่าลืมสมัครผู้ประกันตน ‘มาตรา 39’

“ประกันสังคม” แนะลูกจ้างเอกชน “ตกงาน – ลาออก” อย่าลืมสมัครเป็นผู้ประกันตน “มาตรา 39” ภายใน 6 เดือน รับความคุ้มครอง 6 กรณี

นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 สำหรับนายจ้างและผู้ลูกจ้างในระบบกองทุนประกันสังคม ผ่านรายการสถานีประกันสังคม เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา

ประกันสังคม ตกงาน

นางพิศมัย กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมมีความห่วงใยผู้ประกันตนหรือลูกจ้างในระบบ ประกันสังคม ในช่วงนี้เป็นอย่างมาก โดยหากเกิดเหตุสุดวิสัย นายจ้างต้องเลิกจ้าง ตกงาน หรือลูกจ้างต้องลาออก ก็ขอให้ใช้สิทธิ์ที่มีอยู่ เพราะผู้ประกันตนมีเงินสะสมมาแล้วจำนวนหนึ่ง ก็อยากให้สิทธิ์ของประกันสังคมต่อ

โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือพนักงานเอกชนที่ว่างงานลง สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้ หลักเกณฑ์ คือ ต้องชำระเงินสมทบมาแล้ว 12 เดือน และต้องสมัครภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ออกจากงาน

เวลาไปรับเงินกรณีว่างงานก็ให้สอบถามเจ้าหน้าที่ได้เลยว่า อยากจะสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ต่อ แล้วอยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถสมัครได้ เจ้าหน้าที่ก็จะแจ้งว่า ควรจะสมัครภายในเดือนไหน เพราะว่าถ้าเกิน 6 เดือนแล้ว จะขาดสิทธิ์ ลูกจ้างต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย ถ้ายังสงสัย ก็สามารถโทรไปที่สายด่วน 1506 ของประกันสังคมได้

“ประกันสังคม” เผยปลายปีจ่อ ว่างงาน “หลายล้าน”

นางพิศมัยกล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือพนักงานเอกชนที่มีทั้งหมด 11 ล้านคนทั่วประเทศ มีแนวโน้มว่างงานสูงขึ้น “อย่างเห็นได้ชัดมาก” โดยเป็นการว่างงานปกติที่มีทั้งหมด 3 กรณี คือ การลาออก การเลิกจ้าง และการสิ้นสุดสัญญาจ้าง ไม่นับการว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจากโควิด-19

ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2563 ก่อนจะเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด จำนวนผู้ประกันตนที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานมีปริมาณแค่หลักหมื่น แต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นมา กราฟสูงขึ้นเป็นหลายแสนคนต่อเดือน คาดว่าปลายปีนี้ 2563 เป็นหลัก “หลายล้าน”

การว่างงานปกตินับถึงเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่เกือบ 6 แสนราย หรือคิดเป็น 5% ของผูู้ประกันตนมาตรา 33 ทั้งหมด แต่คาดว่าสิ้นกรกฎาคม 2563 ถึงสิ้นปี อาจจะเพิ่มแบบก้าวกระโดด เพราะกิจการภายในประเทศไทยเปิดทำงานได้ก็จริง แต่กิจการหลายกิจการที่มีลูกจ้างเป็นจำนวนมากตามนิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องรับคำสั่งซื้อสินค้าและส่งออกไปต่างประเทศ แต่ตอนนี้ไม่สามารถดำเนินการได้

ทางสำนักงานฯ จึงเตรียมความพร้อมวินิจฉัยผู้ประกันตนกรณีถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากสถานประกอบการไว้แล้ว โดยเตรียมสำรองเงินกองทุน ประกันสังคม เพื่อจ่ายกรณี ว่างงาน รวมถึงเตรียมอัตรากำลังเจ้าหน้าที่รองรับ เพราะการยื่นขอสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานตามปกติ ซึ่งต้องยื่น 2 ส่วน คือ ยื่นขอรับเงินกรณีว่างงานกับสำนักงานประกันสังคม และยื่นเป็นผู้ว่างงานกับ กรมการจัดหางาน

เมื่อได้รับสิทธิ์แล้ว ผู้ประกันตนก็ต้องมารายงานตัวตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ คือ ถ้าเป็นกรณีลาออกก็ให้รายงานตัวประมาณ 3 เดือน แต่ถ้าเป็นกรณีถูกเลิกจ้างก็จะรายงานตัวประมาณ 6 เดือน โดยสามารถดำเนินการผ่าน 2 เว็บไซต์คือ เว็บไซต์กองทุนประกันสังคมและเว็บไซต์กรมการจัดหางาน

4AUG ประกันสังคม

ประกันสังคม 3 ประเภท

สำนักงานประกันสังคมได้ออกมาเปิดเผย ยอดรวมผู้ประกันตนทั่วประเทศ เดือนมิถุนายน 2563 รวมอยู่ที่ 16,407,409 ราย แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  • มาตรา 33 จำนวน 11.3 ล้านคน

มาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์และอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ มีผู้ประกันตนในระบบจำนวนมากที่สุด 11,295,514 คน

ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับความคุ้มครองใน 7 กรณี ดังนี้ เจ็บป่วย เสียชีวิต ว่างงาน คลอดบุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร

  • มาตรา 39 จำนวน 1.7 ล้านคน

มาตรา 39 คือ เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อน และนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน โดยออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ลาออกจากงาน มีผู้ประกันตนในระบบจำนวน 1,737,744 คน

โดยผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ดังนี้ เจ็บป่วย เสียชีวิต ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ

  • มาตรา 40 จำนวน 3.4 ล้านคน

มาตรา 40 คือ บุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ทำอาชีพอิสระ ไม่มีนายจ้าง มีผู้ประกันตนในระบบจำนวน 3,374,151 คน

โดยผู้ประกันคนมาตรา 40 จะได้รับความคุ้มครอง 3-4-5 ขึ้นอยู่กับทางเลือก ดังนี้ เงินทดแทนการขาดรายได้ ทุพพลภาพ ชราภาพ (บำเหน็จ) สงเคราะห์ และเสียชีวิต

อ่านข่าวเพิ่มเติมคลิก

Avatar photo