Business

‘ส.อ.ท.’ เสนอกู้เงินอัดระบบเศรษฐกิจเพิ่ม 1 ล้านล้าน ขยายพักหนี้ SME ถึง 65

“ส.อ.ท.” เสนอ ครม. ใหม่กู้เงินอัดระบบเพิ่ม 1 ล้านล้าน ขยายพักหนี้ SME ถึงปี 65 ประคอง เศรษฐกิจ รอวัคซีนโควิด-19 หวั่นปิดกิจการ-ตกงานวิกฤติ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ 7 คน ในรัฐบาลประยุทธ์ 2/2 ว่า สิ่งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เหมือนคณะทำงานแก้ปัญหาโควิด-19 ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ เพราะการเมืองนิ่งแล้ว โดยคณะทำงานนี้จะเสนอมาตรการในทิศทางเดียวกัน ทำให้ไม่เกิดความล่าช้า

ส.อ.ท. เศรษฐกิจ

ส่วนภาคเอกชนได้มีการรวมตัวกันแล้ว นอกจากคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ยังมีภาคเอกชนอีก 3 แห่งเข้าร่วม ได้แก่ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ประธาน ส.อ.ท. มองว่า การฟื้นฟู เศรษฐกิจ จำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าปัจจุบัน จึงเตรียมจะหารือในคณะกรรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จะมีการจัดตั้งขึ้น เพื่อขอกู้เงินจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท จากของเดิม พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ มีวงเงินอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า และดำเนินโครงการระยะสั้น และยาวของรัฐบาลในอนาคต

หนี้สาธารณะของไทยปัจจุบันอยู่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้นการจะกู้เงินเพิ่มก็เป็นไปได้ ส่วนเงินที่กู้มาใหม่ จะนำไปใช้เยียวยาหรือไม่นั้น จะต้องให้รัฐบาลตัดสินใจอีกที อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะต้องออกมาตรการส่งเสริมการกระตุ้นผู้บริโภค เนื่องจากมองว่าผู้บริโภคยังมีกำลังซื้ออยู่ ส่วนภาครัฐเองก็ต้องใช้เงินเยอะในภาวะที่เศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ เพราะรัฐบาลเป็นหน่วยงานเดียวที่ลงไปช่วยเหลือประชาชนได้ดีที่สุด

ส.อ.ท. เศรษฐกิจ

หลังจากตั้งคณะกรรมการแล้ว ส.อ.ท. เตรียมจะเสนอขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ทั้งระบบออกไปเป็นเวลา 2 ปี ถึงปี 2565 จากเดิมกำหนดไว้ 6 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2563 นี้ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจให้สามารถเดินต่อไปได้

โดย 6 เดือนแรก จะพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ส่วนที่เหลืออีก 1 ปีครึ่ง ให้พักเงินต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ย โดยเรื่องนี้จะต้องหารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อผ่อนผันเงื่อนไขให้สถาบันการเงินไม่นับการพักหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เสีย (NPL)

สาเหตุที่มีการพักชำระหนี้ออกไปเป็น 2 ปี เนื่องจากมองว่าสถานการณ์โควิด-19 จะยาวออกไปอย่างน้อยถึงปี 2564 และ SME จะไม่สามารถทำกำไรเได้ ดังนั้นจะต้องให้ระยะเวลาธุรกิจเหล่านี้ทำกำไร เพื่อนำเงินมาจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยได้ รวมทั้งเร่งให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) จำนวน 500,000 ล้านบาท ของ ธปท. เพื่อให้ปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น

“วัคซีนต้านโควิด-19 จะต้องมาให้เร็วที่สุด เพราะถ้าไม่มีวัคซีนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะแย่กว่านี้ เพราะขณะนี้โควิด-19 ส่งผลกระทบในภาค เศรษฐกิจ ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท และภาคการท่องเที่ยวมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เพราะมูลค่าการท่องเที่ยวของไทยปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท และปัจจุบันมีคนตกงานแล้วมากกกว่า 3 ล้านคน ถ้าหากรัฐบาลไม่ขยายระยะเวลามาตรการต่อไป หรือมีมาตรการใหม่ จะมีคนตกงานถึง 6-7 ล้านคน เพราะธุรกิจจะทยอยปิดกิจการมากขึ้น” ประธาน ส.อ.ท. กล่าว

แรงงานพนักงานออฟฟิศ ๒๐๐๘๐๕

ก่อนหน้านี้ ส.อ.ท. ยังได้เสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาลูกจ้างและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบทาง เศรษฐกิจ จากไวรัสโควิด-19 จำนวน 7 ข้อ ดังนี้

  • ลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเหลือ 1% โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
  • เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย จาก 90 วัน เป็น 150 วัน และขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ จากเดิมวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เป็นจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
  • เร่งพิจารณาการอนุมัติให้สามารถปรับการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ โดยคิดค่าจ้างในอัตราชั่วโมงละ 40 – 41 บาทต่อชั่วโมง ระยะเวลาจ้างขั้นต่ำ 4 – 8 ชั่วโมงต่อวัน
  • ขอให้ภาครัฐเร่งพิจารณาการรับรองการอบรมออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการจัดอบรม ตาม พ.ร.บ. ส่งเสรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545
  • ขอปรับอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 เหลือ 0.01%
  • โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี
  • จัดสรรกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการเพื่อรักษาเสถียรภาพการจ้าง โดยให้เงินเยียวยาแก่ลูกจ้างผ่านนายจ้าง

อ่านข่าวเพิ่มเติมคลิก

Avatar photo