Business

โลว์คอสต์เปิดศึกแข่งตัดราคา

Orawan Hoichan / Nopphawan Techasanee

NEW

การแข่งขันทางการตลาดของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ (สายการบินต้นทุนต่ำ) ในปีนี้ยังคงร้อนแรงแม้ทุกสายการบินต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เรียกได้ว่าเจอศึกทั้งขึ้นทั้งล่อง ต้นทุนก็ต้องบริหารแคมเปญการตลาดก็ต้องดำเนินการ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา สายการบินโลว์คอสต์เติบโตต่อเนื่อง ได้การตอบรับที่ดีจากตลาดอย่างเห็นได้ชัด จำนวนผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้น ช่วยต่อยอดการเติบโตอุตสาหกรรมการบินโลว์คอสต์ ให้มีแนวโน้มเติบโตอีกมาก

ข้อมูลจากศูนย์การบิน (Centre for Aviation หรือ CAPA) ได้สรุปภาพรวมธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ของไทยว่า เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีเครื่องบินเพิ่มรวมกัน 94 ลำ รวมเป็น 136 ลำ ณ วันที่ 30 เม.ย. 2561 หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของเครื่องบินพาณิชย์ในไทย ที่มีอยู่ทั้งหมด 304 ลำ

เที่ยวบินสายการบินโลว์คอสต์ ที่ใช้บริการ 6 สนามบินหลักของไทย คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย หาดใหญ่ และภูเก็ต โดยรวมเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 120% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

แคมเปญราคาเครื่องมือหลักขยายตลาด

สายการบินโลว์คอสต์เป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทาง ที่ใช้เวลารวดเร็วแต่ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าสายการบินปกติ และในบางช่วงที่มีโปรโมชั่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเปิดให้จองซื้อตั๋วล่วงหน้า 3-6 เดือน ราคาสายการบินโลว์คอสต์ต่อเที่ยว ได้เรทที่ต่ำมากใกล้เคียงกับการเดินทางด้วยรถทัวร์วีไอพี บางเส้นทางอาจถูกกว่าด้วยซ้ำ การทำราคาเช่นนี้สายการบินโลว์คอสต์ยอมขาดทุนหรืออย่างไร

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการสายการบินโลว์คอสต์ กล่าวกับ Thebangkokinsight ว่า เป็นเรื่องปกติ ที่สายการบินโลว์คอสต์จะจัดแคมเปญราคาต่ำพิเศษ แม้กระทั่งตั๋วโดยสาร 0 บาท ออกมาซึ่งมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะสายการบินโลว์คอสต์ชื่อดังอย่าง ไทยแอร์เอเชีย และแอร์เอเชีย บริษัทแม่ที่มาเลเซีย มีการจัดโปรโมชั่นตั๋ว 0 บาทออกมาอยู่เรื่อยๆ

ล่าสุดสายการบินแอร์เอเชีย (มาเลเซีย) ได้ออกมาจัดโปรโมชั่นตั๋ว 0 บาทจำนวน 5 ล้านที่นั่่ง โดยร่วมกับแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ในเส้นทางบิน ทั้งในและต่างประเทศ โดยราคารวมภาษีแล้วเริ่มต้นที่ 261 บาท สำหรับสมาชิกแอร์เอชียบิ๊ก ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษในการสำรองที่นั่งล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 1-9 กันยายน 2561 (เวลา 23.00 น) เปิดจองผ่านเว็บไซด์ airasia.com และแอร์เอเชียโมบายแอพพลิเคชั่น เพื่อเดินทางได้ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 – 26 พฤศจิกายน 2562

แอร์เอเซีย

ตั๋ว 0 บาทขายล่วงหน้า 200-300 ล้าน

แหล่งข่าวกล่าวว่า แคมเปญตั๋ว 0 บาท อาจดูเหมือนเป็นข้อเสนอราคาถูกให้กับผู้โดยสาร แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การจองตั๋วแคมเปญนี้ ยังมีค่าภาษีสนามบิน ค่าธรรเนียมน้ำมัน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าระบุที่นั่ง ค่าน้ำหนักกระเป๋า ดังนั้นเมื่อซื้อโดยสารจริงแม้ค่าตั๋วจะ 0 บาท แต่ผู้โดยสารมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องจ่าย อาจไม่สูงเท่าราคาปกติ แต่สายการบินก็ยังมีรายได้ส่วนหนึ่ง และค่าธรรมเนียมต่างๆ  ที่เป็นการจ่ายล่วงหน้าเงินส่วนนี้นำมาใช้หมุนเวียนในธุรกิจได้

และด้วยความที่จำนวนที่นั่งในแคมเปญ 0 บาท สำหรับแต่ละไฟลท์จัดไว้ไม่เกิน 10% จำนวนการขายราคาต่ำสำหรับสายการบิน ได้มีการคำนวณไว้ล่วงหน้าแล้ว และที่สำคัญทุกครั้งที่จัดแคมเปญ มักจะเป็นการขายล่วงหน้าระยะยาว เช่นซื้อวันนี้เพื่อให้เดินทางในอีก 6-8 เดือนข้างหน้า แต่การชำระเงินลูกค้าที่จองไฟลท์ต้องชำระเงินทันที เท่ากับสายการบินได้เงินก้อนจากแคมเปญ ไปใช้บริหารกิจการล่วงหน้าก่อน ซึ่งแต่ละรอบที่จัดแคมเปญ จะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 200-300 ล้านบาท

ลองนำเงิน 200-300 ล้านบาท ไปคูณจำนวนเดือนที่รอใช้บริการ 6-8 เดือน ในทางธุรกิจถือว่าคุ้ม

ดังนั้นแคมเปญราคาแบบนี้ สำหรับสายการบินจึงถือว่าเป็นการทำรายได้ล่วงหน้า แม้จะยอมขายถูกลงไปบางส่วนก็ตาม สำหรับการบริหารต้นทุนเรื่องน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ก็เป็นส่วนที่ต้องบริหารไปตามต้นทุน ในขณะที่แคมเปญก็จัดไปตามรอบปกติ

เช่นเดียวกับแคมเปญราคาตั๋วโดยสารราคาต่ำพิเศษ ที่มีออกมาเรื่อยๆ ก็เป็นการสร้างสีสันตลาด ดึงดูดความสนใจ แต่ในทางปฏิบัติจริงจำนวนที่นั่งในแต่ละไฟลท์สำหรับราคาพิเศษมีไม่มากนัก และส่วนใหญเป็นการขายล่วงหน้าพอสมควร หากสังเกตให้ดีจะพบว่าการจองซื้อในระยะสั้น เช่น 3-4 วัน ราคาตั๋วโดยสารของสายการบินโลว์คอสต์ ก็อยู่ในเกณฑ์ราคาปกติที่ไม่มีโปรโมชั่น คือต่ำกว่าสายการบินทั่วไป 20-30%

10 เส้นทางa1 10Rute

“นกแอร์”จัดแคมเปญถี่เร่งยอด  

ด้านสายการบิน‘นกแอร์’ ล่าสุดได้ส่งโปรโมชั่น ‘เที่ยวฟิน บินเลย!’ เปิดจองระหว่างวันที่ 4-12 กันยายนนี้ ราคาตั๋วเส้นทางในประเทศเริ่มต้นที่ 590 บาท/เที่ยว และเส้นทางระหว่างประเทศเริ่มต้นที่ 1,190 บาท/เที่ยว

ช่วงก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 3 กันยายน นกแอร์เพิ่งจัดโปรโมชั่น ‘ลดฟ้าผ่า ราคาสุดคุ้ม’ ไปสดๆ ร้อนๆ โดยมีค่าโดยสารเส้นทางภายในประเทศ เริ่มต้นที่ 350 บาท/เที่ยว และเส้นทางระหว่างประเทศเริ่มต้นที่ 1,090 บาท/เที่ยว

ขณะที่ตัวแทนจำหน่าย ‘ไลอ้อนแอร์’ ได้จัดโปรโมชั่นพิเศษ ราคาตั๋วเส้นทางภายในประเทศเริ่มต้นที่ 425 บาท/เที่ยว โดยรวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว และราคาตั๋วต่างประเทศเริ่มต้นที่ 1,060 บาท/เที่ยว

สายการบิน ‘เวียดเจ็ท’ เพิ่งจัดโปรโมชั่น ‘บิน 0 บาททั่วไทยและเอเชีย’ ไปเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โปรโมชั่นเปิดให้จองตั๋วราคาเริ่มต้นที่ 0 บาท กว่า 2.5 ล้านที่นั่ง ซึ่งมีทั้งเส้นทางภายในประเทศไทย  เส้นทางระหว่างประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงเส้นทางระหว่างประเทศเวียดนามและประเทศอื่นๆ

สำหรับโปรโมชั่นปัจจุบัน เส้นทางในประเทศเริ่มต้นที่ 539 บาท/เที่ยว ได้แก่ สุวรรณภูมิ-เชียงใหม่/เชียงราย ด้านเส้นทางระหว่างประเทศ เช่น กรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ เริ่มต้นที่1,489 บาทต่อเที่ยว

จะเห็นว่าแต่ละสายการบินจัดโปรโมชั่นแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่แล้วจำนวนที่นั่ง ที่นำมาจัดโปรโมชั่นมีไม่เกิน 10%

นายกรกฏ ชาตะสิงห์
นายกรกฏ ชาตะสิงห์

“โลว์คอสต์” เน้นบริหารต้นทุนเป็นหลัก

ด้านนายกรกฏ ชาตะสิงห์ นายกสมาคมธุรกิจสายการบิน ให้ความเห็นว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561  ธุรกิจสายการบินได้รับผลกระทบจากต้นทุนน้ำมันเครื่องบิน (น้ำมันเจ็ท) ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยสายการบินต่างประกาศปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิง (Fuel Surcharge) ส่งผลให้โครงสร้างค่าโดยสารในภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น แต่ปริมาณผู้โดยสารในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และผู้โดยสารจากประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดสำคัญยังคงขยายตัว

แต่ในไตรมาสที่ 3 เกิดเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มในจ.ภูเก็ต ส่งผลให้ผู้โดยสารจีนลดลง เป็นเวลา 2-3 เดือน โดยเมื่อผู้โดยสารขาเข้าจากประเทศจีนลดลง ก็ทำให้สายการบิน และตัวแทนจำหน่ายตั๋ว (Agency) ต้องเร่งทำตลาด เพื่อเติมที่นั่งขาออกจากไทยไปประเทศจีนแทน

สถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าค่อนข้างตึงตัว เพราะราคาน้ำมันยังไม่มีแนวโน้มลดลง และยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่ม แต่หวังว่าฤดูกาลท่องเที่ยวปีนี้ จะสามารถทำกำไรให้ธุรกิจสายการบินได้เต็มที่

สำหรับสายการบิน โลว์คอสต์ ไม่ได้แข่งขันลดค่าโดยสารกันอย่างดุเดือด เนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ธุรกิจสายการบินต่างได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ทำให้มีกำไรลดลง หรือขาดทุน โดยล่าสุดราคาน้ำมันเจ็ทอยู่ที่ประมาณ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่ไม่ถึง 70 ดอลลาร์/บาร์เรล ในขณะนี้ โลว์คอสต์ จึงเน้นเรื่องบริหารต้นทุนและบริหารเครื่องบินที่มีอยู่เป็นหลัก

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight