Business

‘ฟู้ดเดลิเวอรี่’ ยิ่งโตสูง ยิ่งแข่งดุ หน้าใหม่เพิ่ม หน้าเก่าเร่งพัฒนา มัดใจลูกค้า

ฟู้ดเดลิเวอรี่ โตแรง แข่งดุ หลังโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์ ส่งอานิสงส์ ลูกค้าปรับพฤติกรรมรับวิถีชีวิตใหม่ ดันคู่แข่งใหม่ร่วมวงชิงตลาดเพิ่ม

​การระบาดของไวรัสโควิด-19 และการประเทศไทย ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหาร เหลือเพียงช่องทางการซื้อกลับ และการจัดส่งอาหารไปส่งยังที่พัก (Food Delivery) หรือ ฟู้ดเดลิเวอรี่ ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ กลายเป็นช่องทางที่สำคัญของทั้งผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและผู้บริโภค

ฟู้ดเดลิเวอรี่

จากข้อมูลของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์พบว่า มีจำนวนร้านอาหารขนาดเล็ก-กลาง สมัครเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ไม่น้อยกว่า 20,000 ร้านต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก เติบโตสูงถึงประมาณ 150% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

สำหรับทิศทางของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ และภาวะการแข่งขันในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 หลังจากการเข้ามาร่วมแข่งขันของผู้ให้บริการรายใหม่ ศูนยวิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ให้บริการแพลตฟอรม์ ออนไลน์จัดส่งอาหารไปยังที่พักที่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อตลาดในมิติที่หลากหลาย ดังนี้

  • กระตุ้นให้ผู้เล่นรายเดิม จัดโปรโมชั่นด้านราคาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาฐานตลาด และความสามารถในการแข่งขัน ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม

หลังจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ในประเทศดีขึ้น ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ รวมถึงผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น และกลับไปใช้บริการนั่งรับประทานในร้านมากขึ้น ทำให้ปริมาณผู้ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ชะลอลง และส่งผลทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม จัดส่งอาหารไปยังที่พัก ยังคงต้องกระตุ้นตลาดอย่างหนัก เพื่อรักษาฐานลูกค้า รวมถึงดึงดูดกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ให้เข้ามาใช้งาน นอกจากนี้น่าจะมีการทำการตลาด ร่วมกับพันธมิตรร้านค้ารายเดิม มากยิ่งขึ้น

  • ทำให้การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารรุนแรงขึ้น รวมถึงสร้างข้อจำกัดให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารในการทำตลาด

ถึงแม้ว่าการเข้ามาของผู้ให้บริการรายใหม่ จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร เนื่องจากมีช่องทางการขายเพิ่มขึ้น และสามารถเลือกใช้บริการในแพลตฟอร์ม ที่เหมาะสมกับโครงสร้างต้นทุน ของผู้ประกอบการ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ส่งผลทำให้เกิดการแข่งขัน ระหว่างผู้ประกอบการร้านอาหารที่รุนแรง

 

นอกจากนี้ ยังสร้างความท้าทายให้กับผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร อาทิ การปรับขึ้นราคาสินค้าที่อาจจะมีข้อจำกัด เนื่องจากลูกค้า สามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าอาหารภายในแอพพลิคชั่นได้

technology ๒๐๐๘๐๗

ขณะที่ผู้ประกอบการต้องระมัดระวัง ในเรื่องคุณภาพและบริการ จากการที่แพลตฟอร์มของผู้ให้บริการสั่งออนไลน์บางราย จะมีการให้บริการคอมเมนท์ของผู้บริโภค หรือการวัดคุณภาพของผู้ประกอบการร้านอาหาร

  • การปรับโมเดลรูปแบบธุรกิจเพื่อสร้างความสมดุลและประโยชน์ของผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่

เมื่อผู้ให้บริการรายใหม่ เข้ามาด้วยรูปแบบของธุรกิจ ที่ต้องการแก้จุดอ่อนของตลาด ส่งผลให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายเดิม คงจะมีการปรับกลยุทธ์ เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเข้ามา อาทิ เงื่อนไขบางประการ เพื่อให้เหมาะสมกับพาร์ทเนอร์แต่ละกลุ่ม

ตัวอย่างเช่น การปรับรูปแบบการคิดค่าบริการจากร้านอาหาร และผู้ให้บริการรับจ้างส่งอาหาร รวมถึงการจัดสรรทรัพยากร ที่ไม่ได้ถูกใช้งานเข้ามาสนับสนุนธุรกิจในบางพื้นที่ที่ได้รับความนิยมสูง หรือการปรับสวัสดิการผู้ขับขี่ให้เหมาะสมมากขึ้น เพื่อรักษาพาร์ทเนอร์ของแพลตฟอร์ม รวมถึงการจัดสร้างครัวกลาง (Cloud Kitchen) ที่คาดว่าจะเข้ามาช่วยลดข้อจำกัดในการสั่งอาหารข้ามพื้นที่

  • การยกระดับคุณสมบัติการใช้งานของแอพพลิเคชั่นของผู้เล่นรายเดิม เข้าสู่ Super Application ด้วยการให้บริการครอบคลุมไปยังกิจกรรมด้านอื่น ๆ ของผู้บริโภค เพื่อสร้างรายได้ระยะยาว

ทั้งนี้ คาดว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์ออนไลน์รายเดิม จะมีการเร่งพัฒนายกระดับคุณสมบัติ การใช้งานของแอพพลิเคชั่น ให้ครอบคลุมไปยังกิจกรรมในชีวิตประจำวันด้านอื่นๆ ของผู้บริโภค หรือมีลักษณะเป็น One-Stop Application เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ เนื่องจากธุรกิจจัดส่งอาหาร ต้องใช้งบประมาณสูงในการกระตุ้นตลาด ด้วยการใช้กลยุทธ์ด้านราคาเข้ามาทำตลาด และส่งผลกระทบ ให้กำไรสุทธิ จากการทำธุรกิจติดลบ ขณะที่การระดมเงินทุนจากภายนอกองค์กร อาจทำได้ยาก ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางเช่นนี้

ศูนยวิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทั้งปี 2563 จำนวนครั้งการจัดส่งอาหารไปยังที่พักเติบโต 78.0-84.0% ขณะเดียวกันการขยายตัวที่เร่งขึ้นจากปีก่อน ก็อาจผลักดันให้ตลาดาดเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวเร็วขึ้น

new normal ๒๐๐๘๐๗

สำหรับประเด็นสำคัญ ที่ต้องติดตาม ได้แก่

1. ความต่อเนื่องของการเติบโตของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการรายใหม่ หลังการระบาดของโควิด-19 ยุติลง เนื่องจากที่ผ่านมา การเติบโตอย่างรวดเร็ว อาจจะทำให้ธุรกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวเร็วขึ้น (Maturity stage) เพราะหากมองไปในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า คาดว่าจำนวนครั้งการสั่งอาหารมายังที่พัก จะหดตัวลง เมื่อเทียบกับปี 2563 แต่ยังขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 4-7% เมื่อเทียบกับปี 2562

การเติบโตดังกล่ายว ถือว่าชะลอตัว ผ่านการเพิ่มจำนวนครั้งการใช้งานของผู้บริโภครายเก่า รวมถึงการจัดโปรโมชั่นลดราคา ของผู้ประกอบการในบางช่วงเวลา ประกอบกับการเข้ามาทำตลาดของ คลาวด์ คิทเช่น ที่น่าจะช่วยลดข้อจำกัดของการสั่งอาหารข้ามพื้นที่ให้บริการ

2. ด้วยจำนวนผู้เล่นรายใหม่ จากทั้งนอกและในอุตสาหกรรม ที่เข้ามามากขึ้น ขณะที่รูปแบบการทำธุรกิจ ยังไม่สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้เล่นบางราย ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ อาจต้องออกจากการแข่งขันไป หรือถูกควบรวมกิจการ ในภาวะ Shake-out stage

3. กฎระเบียบของทางการ ที่จะเข้ามาควบคุมอัตราค่าบริการต่าง ๆ เช่น ค่าจัดส่งอาหาร ใน พ.ร.บ.สินค้าและบริการควบคุม พ.ศ. 2563 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ ของผู้ให้บริการ แพลตฟอร์มจัดส่งอาหารบางราย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo