Business

จัดเก็บรายได้รัฐบาล 8 เดือน วืดเป้า สรรพากรร่วงมากสุดกว่า 1.39 แสนล้าน

จัดเก็บรายได้รัฐบาล 8 เดือน ปีงบประมาณ 2563 มีรายได้สุทธิ จำนวน 1,500,261 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 189,695 ล้านบาท หลังใช้มาตรการภาษีฝ่าโควิด-19

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษก กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการ จัดเก็บรายได้รัฐบาล ในช่วง 8 เดือนแรก ของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562 – พฤษภาคม 2563) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,500,261 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ ตามเอกสารงบประมาณ 189,695 ล้านบาท หรือ 11.2%

จัดเก็บรายได้รัฐบาล

ทั้งนี้ เป็นผลกระทบจาก การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และ ความจำเป็นของรัฐบาล ในการดำเนินนโยบายการคลัง ผ่านมาตรการทางภาษี เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ประชาชน และเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ ในช่วงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการขยายเวลา การยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีต่าง ๆ ออกไปเป็นภายในเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2563 รวมทั้งการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

อย่างไรก็ตาม ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 ถือว่าเป็นปีที่ไม่ปกติ จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับ ผลการจัดเก็บรายได้ในช่วงสถานการณ์ปกติได้ ดังนั้น จึงขอให้ระมัดระวังในการนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์ด้วย

สำหรับหน่วยงาน ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เป็นสำคัญ ได้แก่

  • กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,086,974 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 139,113 ล้านบาท หรือ 11.3% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่

ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และการค้าที่หดตัว เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับ มีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษี ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2563

ภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการขยายเวลา การยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษี สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล จากกำไรสุทธิของปี 2562 (ภ.ง.ด. 50) ออกไปเป็นภายในเดือนสิงหาคม 2563 และสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล จากประมาณการกำไรสุทธิ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 (ภ.ง.ด. 51) ออกไปจนถึงเดือนกันยายน 2563 และการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด. 53) จากอัตราร้อยละ 3 เหลืออัตราร้อยละ 1.5 ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2563

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการขยายเวลา การยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษี สำหรับเงินได้พึงประเมิน ประจำปีภาษี พ.ศ. 2562 (ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91) ออกไปเป็นภายในเดือนสิงหาคม 2563

การจัดเก็บรายได้รัฐบาล 01

  • กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 362,122 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 70,960 ล้านบาท หรือ 16.4% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่

ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากปริมาณรถยนต์ที่ชำระภาษี ขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ซึ่งเป็นผลกระทบจาก ภาวะเศรษฐกิจ และโควิด-19 ประกอบกับมีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษี สำหรับภาษีที่ต้องชำระ ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563

ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จัดเก็บได้กว่าประมาณการ เนื่องจากมีการขยายเวลา การยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันฯ ที่ผลิตในราชอาณาจักรในเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563

  • กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 64,384 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,516 ล้านบาท หรือ 11.7% เนื่องจากได้รับผลกระทบ จากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้า

อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 11,929 และ 4,747 ล้านบาท หรือ 10.1% และ 3.3% ตามลำดับ

นายลวรณ ยังกล่าวถึงฐานะการคลังของรัฐบาล ตามระบบกระแสเงินสด ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562 – พฤษภาคม 2563) ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1,470,740 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 2,209,125 ล้านบาท และรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 392,442 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 265,565 ล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo