ประธานบอร์ด “นกแอร์” ยืนยัน “ฟื้นฟูกิจการ” เป็นแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม ตั้งเป้าทำสำเร็จก่อนโควิด-19 จบ รับการท่องเที่ยวบูม ลั่น! ไม่ถอดใจปิดสายการบินหรือขอล้มละลาย
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดวาระพิเศษครั้งที่ 8/2563 เมื่อวานนี้ (30 ก.ค. 63) ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทในฐานะลูกหนี้ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯ และให้เสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ ต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483
โดย นกแอร์ ได้ยื่นคำร้องขอ ฟื้นฟูกิจการ ของบริษัท ต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวานนี้ เวลา 11.00 น. และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯ ไว้พิจารณาแล้วในวันเดียวกัน เป็นคดีดำ ฟฟ 21/2563 และนัดไต่สวนคำร้องฯ ในวันที่ 27 ตุลาคม 2563 เวลา 09.00 น.
สรุปคำร้อง ฟื้นฟูกิจการ “นกแอร์”
การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของนกแอร์มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
บริษัทในฐานะลูกหนี้ เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลฯ เพราะบริษัทเห็นว่าการฟื้นฟูกิจการนั้นเป็นแนวทางที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวของบริษัท ภายใต้การกำกับดูแลของศาลฯ เพื่อให้กิจการของบริษัทสามารถดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ
การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ บริษัทไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการที่จะเลิกหรือชำระบัญชีบริษัท หรือไม่ได้มุ่งหมายให้บริษัทต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายแต่อย่างใด
ในทางตรงกันข้ามบริษัทกลับมีความมุ่งมั่นและแน่วแน่เป็นอย่างยิ่งในการที่จะดำเนินกิจการต่อไปให้มีความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง เพราะปัญหาในปัจจุบันของบริษัท ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ แต่เกิดจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้บริษัทเกิดข้อติดขัดและอุปสรรคในการดำเนินกิจการ หากมีการปรับโครงสร้างภายใต้กระบวนการฟื้นฟูอย่างเหมาะสม บริษัทจะสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตก้าวหน้าต่อไปได้อย่างแน่นอน
การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ ในครั้งนี้ จะช่วยให้บริษัทสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม
ทั้งบริษัทยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ตามปกติในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ ไม่ว่าจะเป็นการให้การบริการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศ
ตั้งเป้าทำสำเร็จ ก่อนโควิด-19 จบ
แนวทางเบื้องต้นของการ ฟื้นฟูกิจการ นกแอร์ คือ
การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ไขหนี้สินที่มีอยู่ให้สร็จสิ้นโดยคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อย่างเป็นธรรมและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทฯ
การบริหารจัดการกิจการของลูกหนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและสามารถชำระหนี้ได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ เช่น ปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบินและปรับฝูงบิน การปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพในการทางานของพนักงาน ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น พัฒนาและปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคล
บริษัทได้เสนอให้ บริษัท แกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ นายปริญญา ไววัฒนา, นายไต้ ชอง อี, นายเกษมสันต์ วีระกุล, นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร และนายชวลิต อัตถศาสตร์ กรรมการของบริษัทเป็นผู้ทำแผน
นายประเสริฐ เปิดเผยต่ออีกว่าการยื่นคำร้องขอนฟูกิจการฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการที่จะเปลี่ยนแปลงบริษัทไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้โดยสาร ลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรทางการค้า ลูกหนี้ เจ้าหนี้ พนักงานบริษัท ผู้ลงทุน ประชาชนรวมถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
โดยบริษัทได้เล็งเห็นแล้วว่าในขณะนี้ประชาชนและนักท่องเที่ยวยังมีการเดินทางกันไม่มากนักเพราะการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะทำให้ นกแอร์ สามารถ ฟื้นฟูกิจการ ได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็วมากกว่าในภาวะปกติ
บริษัทตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จก่อนการระบาดโควิด-19 จะยุติลง ซึ่งนั่นหมายถึงบริษัทจะมีความพร้อมอย่างเต็มที่และสามารถให้บริการอย่างดีเยี่ยมเพื่อตอบสนองความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รวมถึงประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ผู้ให้บริการสายการบินราคาประหยัด ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อ ศาลล้มละลายกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ
โดยมีรายละเอียดดังนี้ นกแอร์ มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด จดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ดำเนินธุรกิจสายการบินขนส่ง ทั้งคน สิ่งของ และไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศ มีที่ตั้งบริษัท อยู่เลขที่ 3 อาคารรัจนาการชั้น 17 ถนนสาทรใต้ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ
นายชวลิต อัตถศาสตร์, นายประเวช องอาจสิทธิกุล, นาย วิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์, นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร นาย ไต้ ซอง อี และนายเกษมสันต์ วีระกุล กรรมการสองในหกคนนี้ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ได้รายละเอียดปรากฏตามหนังสือรับรองบริษัท ลูกหนี้เอกสารท้ายคำร้องหนี้มีหนี้สินเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 10,000,000 บาท
โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553 มีหนี้สินต่อเจ้าหนี้หลายรายรวมกันเป็นจำนวน 26,522,203,418 บาท ดังนี้
- หนี้สินหมุนเวียน เป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น 2,720,000,000 บาท
- เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้หมุนเวียนอื่น 2,679,065,008 บาท
- รายได้รอตัดบัญชีจากโปรแกรมสิทธิพิเศษแก่ลูกค้า 41,812,871 บาท
- ประมาณการหนี้สินค่าปรับสภาพเครื่องบินและค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินระยะสั้น 58,858,927 บาท
- ส่วนของหนี้สินตามสัญญาเช่าที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี1,907,589,409 บาท
- หนี้สินหมุนเวียนอื่น 98,591,347 บาท
- รวมหนี้สินหมุนเวียน 7,505,917,562 บาท
- หนี้สินไม่หมุนเวียนประมาณการหนี้สินค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินตามแผนการซ่อมบำรุงประมาณการหนี้สินค่าปรับสภาพเครื่องบิน 6,460,359,841 บาท
โดยศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอ ฟื้นฟูกิจการ เป็นคดีดำ ฟฟ 21/2563 นัดไต่สวนคำร้องวันที่ 27 ตุลาคม 2563 เวลา 09.00 น. ส่งผลให้สายการบิน นกแอร์ อยู่ในสภาวะพักการชําระหนี้ (Automatic Stay) ตามมาตรา 90/12
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘นกแอร์’ แบกหนี้ 2.6 หมื่นล้านไม่ไหว ยื่นฟื้นฟูกิจการเป็นสายการบินที่ 2
- การบินไทยยุคฟื้นฟู! กับ ‘หญิงใหญ่วัยใกล้เกษียณ’
- ‘นกแอร์’ ติดสารพัดปัญหา ขอเลื่อนส่ง ‘งบไตรมาสแรก’ ไปอีก 3 เดือน