Business

‘ทอท.’ เดินหน้าแผนพัฒนา 6 สนามบินหลัก รองรับดีมานด์ในอนาคต

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพิ่งครบรอบการดำเนินงาน 41 ปี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา และกำลังก้าวสู่ขวบปีที่ 42

โดย ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมและบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจบริหารสนามบิน ทั้งนี้ ทอท. มีสนามบินในสังกัดจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่

แม้ในปีนี้ ทอท. จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด แต่ ทอท. ก็ยังยืนยันจะเดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินทั้ง 6 แห่งต่อไป เพื่อให้มีศักยภาพรองรับความต้องการการเดินทาง เมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ทอท. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

“สุวรรณภูมิเฟส 2” ให้บริการจริงปี 65

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า  ทอท. ยังคงเดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินทั้ง 6 แห่ง เพื่อให้สามารถรองรับการจราจรในอนาคต

สำหรับ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นสนามบินหลักของประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาเฟสที่ 2 โดยมีความคืบหน้าในการดำเนินงานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) กว่า 90% ในส่วนโครงสร้างดำเนินการเสร็จแล้ว แต่อยู่ระหว่างดำเนินงานสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน งานภูมิทัศน์ และติดตั้งงานระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ไฟฟ้า เครื่องกล สุขาภิบาล และระบบสารสนเทศภายในอาคาร

sat APM สนามบินสุวรรณภูมิ

แต่ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ทำให้ภาพรวมการทดสอบการเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการ (Operation Readiness and Airport Transfer : ORAT) อาคาร SAT-1 ต้องเลื่อนออกไปก่อน โดยคาดว่าจะทำการทดสอบระบบการปฏิบัติงานต่างๆ ร่วมกันแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2565 เช่น ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ระบบบริหารลานจอดอากาศยาน ระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทอท. คาดว่าเที่ยวบินและผู้โดยสารจะเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจนกลับมามีปริมาณการจราจรเป็นปกติ (ที่ระดับเดิมของปี 2562) ในเดือนตุลาคม 2565 ดังนั้น ทอท. อาจต้องพิจารณาการเปิดใช้อาคาร SAT-1 ให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารต่อไป

apm สุวรรณภูมิ รถไฟฟ้า

“ดอนเมือง” เปิด “อาคารบริการผู้โดยสาร-ทางเดินเชื่อมรถไฟฟ้า” เดือนหน้า

ด้าน ท่าอากาศยานดอนเมือง ได้มีการก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสาร (Service Hall) บริเวณลานจอดรถรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอาคารที่เชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศอาคาร 1 ด้านทิศเหนือ

มีพื้นที่ใช้งานประมาณ 3,000 ตารางเมตร สำหรับให้ผู้โดยสารกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ได้ใช้เป็นพื้นที่จัดกระเป๋าเดินทางก่อนขึ้นเครื่อง เพื่อช่วยลดความแออัดภายในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ

S 74391566

รวมถึงโครงการก่อสร้างทางเดินเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง ระยะทาง 200 เมตร เชื่อมต่อจากโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต สถานีดอนเมือง เข้าสู่ภายในท่าอากาศยานดอนเมือง บริเวณอาคารจอดรถยนต์ 7 ชั้น คาดว่าดำเนินการเสร็จภายในเดือนสิงหาคมเช่นกัน เพื่อให้พร้อมรองรับการเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ในปี 2564

นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารอาคาร 1 เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร อาคาร 3 บริเวณอาคารผู้โดยสารเดิมที่ไม่ได้ใช้งาน เป็นการคืนสภาพขีดความสามารถเดิมของท่าอากาศยานดอนเมือง ในการรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 40 ล้านคนต่อปี โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567

ดอนเมือง สนามบิน

อีก 4 สนามบินยังเดินตามแผน

ในส่วนของสนามบินภูมิภาคของ ทอท. อีก 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ยังคงเดินหน้าดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินตามแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินเช่นกัน

การพัฒนาดังกล่าว รวมถึงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ และรักษามาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้สนามบินมีศักยภาพและสามารถรองรับความต้องการการเดินทางที่จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งการขนส่ง การท่องเที่ยว และธุรกิจการบริการของประเทศให้กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วได้อีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo