Business

จับสัญญาน อสังหาฯ อาเซียน คนซื้อระวัง คนขายต้องปรับตัว

อสังหาฯ อาเซียน ยังไม่ตาย ส่องพฤติกรรมคนซื้อบ้านแต่ละประเทศ ส่วนใหญ่ยังอยากซื้อบ้าน แต่ระมัดระวังมากขึ้น แนะคนขายปรับรับมือ

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เปิดเผยผลการสำรวจ Consumer Sentiment Study H2 2020 พฤติกกรรมการซื้อ อสังหาฯ อาเซียน พบว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังไปไหว แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ ที่ต้องการบ้านเพื่ออยู่อาศัยเอง ยังไม่พับแผนซื้อ แต่เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ

อสังหาฯ อาเซียน

ทั้งนี้ แม้ว่าภาคธุรกิจ และสังคม ของหลายประเทศ จะเริ่มกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติ แต่อาจจะได้เห็นคลื่นการหยุดชะงักอีกครั้ง หากมีการระบาดรอบใหม่ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจ ที่ยังคงต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัว หลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคาร ซึ่งจะเข้าสู่สนามทดสอบของจริง เพราะตัวเลขคนว่างงานที่ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลต่อสถานะทางการเงิน ที่เปราะบาง ของประชากรในแต่ละประเทศด้วย

ดังนั้น การสร้างความต่อเนื่องในการฟื้นตัว และเสถียรภาพให้กับธุรกิจ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ที่ผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรม ต้องนำมาพิจารณา แม้จะต้องเผชิญภาวะขาดสภาพคล่อง แต่ต้องมั่นใจว่า จะสามารถประคองธุรกิจไปต่อ ด้วยกลยุทธ์ที่รอบคอบ

ขณะที่ผลสำรวจพบว่า ยังเห็นผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ต้องการบ้านเพื่ออยู่อาศัยเองยังไม่พับแผนซื้อ แต่ใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการตัดสินใจ เนื่องจากความผันผวนสูงของตลาดจากการระบาดของโควิด-19

กมลภัทร แสวงกิจ
กมลภัทร แสวงกิจ

ตลาดอสังหาฯ ที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค พบว่า ชาวสิงคโปร์มากกว่าครึ่ง (55%) มองว่าความไม่แน่นอนของราคาอสังหาฯ มีผลต่อการตัดสินใจซื้อบ้าน โดยผู้บริโภคหวังจะเห็นราคาบ้านที่ถูกลง ขณะที่ผู้ประกอบชะลอการขายอสังหาฯ เพื่อรอรับผลตอบแทนที่ดีกว่าในภายหลัง

การสำรวจถึงพฤติกรรมผู้บริโภคยังพบว่า 42% ค่อนข้างให้ความสนใจในเรื่องราคาเป็นพิเศษ และ 82% ของผู้ทำแบบสำรวจสนใจบ้าน/คอนโดฯ ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อยลงถ้าหากได้ราคาดี อย่างไรก็ดี ภายในปีหน้า ผู้บริโภค 40% ตั้งใจซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้บริโภคที่ปัจจุบันเป็นผู้เช่า (60%) และผู้ที่ยังอยู่อาศัยกับพ่อแม่ (76%)

ด้านผลสำรวจของประเทศมาเลเซีย เผยภาพรวมชาวมาเลเซีย 52% มีความตั้งใจที่จะซื้อเพื่อการอยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีหลังและหลังโควิด-19 และซื้อเพื่อลงทุน 42% โดยอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ หลังการประกาศขยายเวลาล็อกดาวน์ในประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภควัยทำงาน ครอบคลุมทั้งกลุ่มมิลเลนเนียล และกลุ่มผู้เช่าในปัจจุบัน เริ่มสนใจซื้อบ้าน เพราะต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

มาเล

ทั้งนี้ ผลสำรวจพบกลุ่มผู้เช่า (51%) และคนที่ยังอาศัยอยู่กับครอบครัว (44%) ยังเดินหน้าซื้อบ้านและมองว่าการระบาดของโควิด-19 ไม่เป็นอุปสรรคในการซื้อบ้าน

นอกจากนี้ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าปัญหาที่ชาวมาเลเซียเผชิญ นอกจากความผันผวนของราคา และความล่าช้าในการซื้อบ้านแล้ว ยังมีในเรื่องของการเข้าเยี่ยมชมบ้านตัวอย่าง เนื่องจากต้องการเข้าชมโครงการจริง มากกว่าการดูผ่านออนไลน์

ด้าน ชาวอินโดนีเซีย ประมาณ 60% ตัดสินใจชะลอการซื้อขายอสังหาฯ ออกไปชั่วคราว เนื่องจากต้องการเก็บเงินไว้ก่อนในช่วงนี้ และจะกลับมาซื้ออสังหาฯ ต่ออย่างแน่นอนในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ไปจนถึงปีหน้า

อินโด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามากกว่า 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามจะพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระของตัวเองเป็นอย่างดี แต่รายได้ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการซื้ออสังหาฯ โดยพบว่า 51% มีเงินดาวน์ไม่เพียงพอ ขณะที่ 46% มีความกังวลเรื่องรายได้ที่ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการขอสินเชื่อ

ขณะที่ ผู้บริโภคชาวไทย 75% ชะลอการซื้อขายอสังหาฯ และ 79% มองว่าราคาอสังหาฯ เป็นอุปสรรคสำคัญในการซื้อบ้าน แต่มีผู้บริโภคถึง 63% ให้ความสนใจและพิจารณาซื้อบ้านผ่านการประมูล เนื่องจากผู้ซื้อที่มีความพร้อมมองว่า อสังหาฯ มือสองที่เปิดให้ประมูลเหล่านี้ มักอยู่ในทำเลที่หาโครงการใหม่เปิดตัวได้ยาก หรือหากมีก็จะมีราคาที่สูงมากจากราคาต้นทุนที่ดินในปัจจุบัน ทำให้โครงการเหล่านี้ตอบโจทย์ ทั้งในเรื่องของทำเลและราคาที่เอื้อมถึง

จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังพิจารณาที่จะซื้ออสังหาฯ อยู่ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่มีแนวโน้มที่จะซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และปี 2564

อสังหาฯ อาเซียน

จากผลสำรวจยังพบอีกว่า ข้อมูลราคา, ทำเลที่ตั้ง และความปลอดภัยในพื้นที่ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคในอาเซียนส่วนใหญ่นิยมค้นหามากที่สุด โดยส่วนใหญ่นิยมค้นหาผ่านอินเทอร์เน็ต อาทิ เว็บไซต์ของโครงการ, เว็บไซต์สื่อกลางซื้อ-ขายอสังหาฯ เพื่อเลือกชมโครงการบ้านที่หลากหลาย หรือบางกลุ่มนิยมใช้นายหน้า เนื่องจากประหยัดเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ และนายหน้าบางรายอาจจะมีข้อเสนอพิเศษ

ด้าน ชาวอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่ตั้งใจที่จะซื้อเพื่อลงทุน จึงพิจารณาจาก ราคา, ทำเลที่ตั้ง, ประเภทของอสังหาฯ, ความปลอดภัยของทำเล และแผนการพัฒนาโครงการและสาธารณูปโภคในอนาคตของทำเลนั้น ๆ ทั้งนี้เองชาวอินโดนีเซียต้องการทราบข้อมูลด้านเอกสารทางกฎหมายและขั้นตอนการดำเนินการ รวมถึงรีวิวเกี่ยวกับนายหน้า/ผู้พัฒนาโครงการเมื่อจะตัดสินใจซื้อ-เช่ามากกว่าชาวไทย

ชาวไทยพิจารณาเรื่อง ราคา /ยูนิตมาอันดับแรก ถัดมา คือ ขนาดที่อยู่อาศัย, รูปแบบโครงสร้าง, ภาษีและมาตรการของภาครัฐที่ออกมาช่วย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบที่อยู่อาศัย และมองหาผลตอบแทนค่าเช่า/การทำกำไรในอนาคต

นอกจากนี้ยังพบข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับมุมมองและปัจจัยที่ผู้บริโภคใช้พิจารณาหากต้องการซื้อบ้าน หลังจากเผชิญการระบาดของโควิด-19 โดยพบว่า

ชาวมาเลเซีย พิจารณาเรื่องการระบายอากาศและแสงธรรมชาติมาเป็นอันดับแรก ถัดมาเป็นเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มองหาบ้านที่เป็นได้ทั้งออฟฟิศและฟิตเนส และความหนาแน่นโครงการที่ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มวัยเกษียณที่ต้องการหลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด

อสังหาฯ อาเซียน

ชาวสิงค์โปร์ พิจารณาให้ความสำคัญกับทำเลที่อยู่ใกล้ร้านอาหารและห้างสรรพสินค้าเป็นพิเศษ รองลงมาคือในเรื่องของการระบายอากาศและแสงธรรมชาติ มีความต้องการพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น และสนใจระบบบ้านอัจฉริยะที่ตอบโจทย์เรื่องประหยัดพลังงานหากต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน ดังเช่นสถานการณ์ที่ผ่านมา

“หากพิจารณาภาพรวม ตลาดอสังหาฯ ของทั้งภูมิภาคในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า มูลค่าอสังหาฯ เองมีความผันผวนตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้ตลาดอสังหาฯ มีความผันผวนมากขึ้น

อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจากผลการสำรวจของเราจะเห็นว่า ตลาดอสังหาฯ ในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มการกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้จากความต้องการซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงมีอยู่

ประกอบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เริ่มปล่อยสินค้าใหม่ ๆ หรือโครงการที่ถูกพักขายก่อนหน้าออกมาสู่ตลาด ควบคู่กับการเร่งขายโครงการเก่าพร้อมโปรโมชันน่าสนใจ รวมทั้งสถาบันทางการเงินหลายแห่งก็มีการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์สินเชื่อกู้ซื้อบ้านและอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน ยิ่งทำให้แนวโน้ม ตลาดอสังหาฯ ฟื้นตัวขึ้นได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo