Business

ผ่านร่าง กม. ‘ภาษี e- service’ รีดภาษีออนไลน์ หวังใช้ทันปี 2563 นี้

 ภาษี e- service ผ่านสภาฯ วาระแรก หลังผ่าน ครม.พิจารณา จากนี้รอประกาศใช้ พ.ร.บ.เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “Ekniti Niti” ถึง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือ ภาษี e- service ว่า ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏร วาระแรกแล้ว เมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า

ภาษี e- service

“ร่างกม. e- service สำหรับผู้ประกอบการต่างชาติที่ให้บริการข้ามชาติผ่าน digital platform มีหน้าที่ต้องจด/ยื่น VAT เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการไทย ได้ผ่านสภาฯ วาระแรกวันนี้แล้วครับ!

ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่ช่วยกันผลักดันการแก้ไขกม. ฉบับนี้เข้าสภาฯ”

ทั้งนี้ การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏร จากจำนวนผู้ลงมติ 358 เสียง เห็นด้วย 354 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

หลังจากผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏรแล้ว ขั้นตอนต่อไป จะเป็นการนำเสนอเข้าที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งจะประกอบด้วย 3 วาระ เช่นกันคือ วาระ 1 รับหลักการ วาระ 2 ตั้งคณะกรรมการ และวาระ 3 เห็นชอบ ตามด้วยการเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาเพื่อประกาศใช้เป็นกฏหมายต่อไป

ที่ผ่านมา ร่างภาษี e- service ได้มีการปรับแก้จากเดิมที่ใช้คำว่า ร่างภาษี e-Business โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา มีข้อเสนอในการแก้ไข เพิ่มเติมร่างกฎหมาย เริ่มตั้งแต่ชื่อที่เห็นว่าควรเปลี่ยนเป็น อี-เซอร์วิส (e-Service) เพื่อให้ชัดเจน ครอบคลุมธุรกิจกว้างขวางขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อกฎหมายนี้ออกมาแล้ว จะสามารถจัดเก็บภาษีจากบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติ ได้จริงหรือไม่ หากผู้ประกอบการเหล่านั้นไม่ยินยอมเข้าระบบกฎหมายไทยจะมีเครื่องมือใดที่จะบังคับใช้กฎหมาย

จนในที่สุด กรมสรรพากร สามารถเสนอร่างกฎหมายที่ใช้ชื่อใหม่ว่า e-service และผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ตามด้วยการผ่านการพิจารณาของรัฐสภา โดยมีเป้าหมายบังคับใช้กฎหมายภายในสิ้นปี 2563 นี้

29JUL ภาษี

 

การจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว กรมสรรพากรได้นำผลการศึกษา ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในการเพิ่มประสิทธิภาพ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากผู้ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ ที่มีข้อเสนอแนะให้ผู้ประกอบการต่างประเทศ หรือดิจิทัลแพลตฟอร์ม เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่หน่วยงานจัดเก็บภาษี เป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและดำเนินการได้มากที่สุด

ปัจจุบันมีกว่า 60 ประเทศที่นำแนวทางของ OECD มาแก้ไขปัญหาการจัดเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการระหว่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น

ใจความสำคัญของ ร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฯ กำหนดให้ผู้ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ หรือแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ (เช่น การให้บริการดาวน์โหลดภาพยนตร์และสื่อบันเทิงต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต) ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต่อปี จากการให้บริการผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์แก่ลูกค้าในประเทศไทย ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นแบบแสดงรายการภาษี และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความง่ายและอำนวยความสะดวก ในการชำระภาษี สำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ให้บริการจากต่างประเทศทำหน้าที่นำส่งภาษีแทน ผ่านระบบบริการจดทะเบียน และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างง่าย (Simplified VAT)

การปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ระหว่างผู้ประกอบการในประเทศไทย กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ ที่ให้บริการในประเทศไทย ทำให้การจัดเก็บภาษีมีความเหมาะสม สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังเป็นการปรับปรุง กฎหมายภาษีไทย ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับ แนวทางการจัดเก็บภาษี ของนานาประเทศ และกรมสรรพากรคาดว่า การปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้ จะช่วยทำให้จัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ 

1. แก้ไขเพิ่มเติมให้การดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐาน หรือหนังสืออื่นใด ตามประมวลรัษฎากร สามารถดำเนินการด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

2. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “สินค้า” และเพิ่มบทนิยามคำว่า “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” และคำว่า “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม”

3. แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่เสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ของผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ แก่ผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยคำนวณจากภาษีขายโดยไม่ให้หักภาษีซื้อ และกำหนดให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม มีหน้าที่เสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม แทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์

4. แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของผู้จ่ายเงินในการนำส่งเงิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม และหน้าที่ของผู้ประกอบการในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน

5. กำหนดให้การดำเนินการทางทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทำโดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

6. กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ออกใบกำกับภาษี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo