Business

สิทธิประโยชน์กรณี ‘ว่างงาน’ เรื่องสำคัญของ ‘ประกันสังคมมาตรา 33’

 ผู้ประกันตน มาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี และทำงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น “พนักงานเอกชน”

ผู้ประกันตนกลุ่มนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่สำคัญ 7 ด้านจาก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้แก่ เจ็บป่วย เสียชีวิต ว่างงาน คลอดบุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ และ สงเคราะห์บุตร

โดยสิทธิประโยชน์ด้านกรณี ว่างงาน ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากสำหรับ ประกันสังคมมาตรา 33 ในขณะนี้ เพราะ ทั่วโลกและประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แรงงานจำนวนมากจึงมีโอกาสตกงาน หรือถูกให้หยุดงานชั่วคราว

ประกันสังคมมาตรา 33 ว่างงาน

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจึงได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนระหว่าง ว่างงาน แก่ ประกันสังคมมาตรา 33 ในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือสิ้นสุดระยะเวลาการจ้าง โดยมาตรการนี้มีผลเป็นระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

1. ผู้ประกันตน ถูกเลิกจ้าง

ผู้ประกันตนจะได้รับเงินว่างงานในอัตรา 70% ของค่าจ้างรายวัน โดยได้รับไม่เกิน 200 วัน ภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน จากเดิมจะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างเงินกรณีถูกเลิกจ้างในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย ปีละไม่เกิน 180 วัน

2. ผู้ประกันตน ลาออก หรือสิ้นสุดระยะเวลาการจ้าง

ผู้ประกันตนจะได้รับเงินว่างงานในอัตรา 45% ของค่าจ้างรายวัน โดยได้รับไม่เกิน 90 วัน  ภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน จากเดิมจะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญา 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย ปีละไม่เกิน 90 วัน

ทั้งนี้ กรณีที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุตามข้อ 1 หรือเหตุตามข้อ 1 และ 2  เกินหนึ่งครั้งภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานทุกครั้งรวมกันไม่เกิน 200 วัน

แต่ในกรณีขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเหตุตามข้อ 2 เกินหนึ่งครั้งภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานทุกครั้งรวมกันไม่เกิน 90 วัน

ประกันสังคม11 1

3.กรณีว่างงานเหตุสุดวิสัยไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ ผู้ประกันตนที่ว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยจากไวรัสโควิด-19 ยังมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563

เหตุสุดวิสัย หมายความรวมถึง ภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19  หรือโรคติดต่ออันตรายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน และถึงขนาดที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ดังนี้

  • ผู้ประกันตนถูกกักตัว

ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย และลูกจ้าง ซึ่งเป็น ผู้ประกันตน ที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค 

ให้ลูกจ้างดังกล่าวซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน แต่ไม่เกิน 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 หรือตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของ ครม.

  • ปิดกิจการชั่วคราว

ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยถึงขนาดที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมด หรือแต่บางส่วนเป็นการชั่วคราว และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน ไม่สามารถทำงานได้และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเอง หรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ให้ลูกจ้างดังกล่าวซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1  มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 หรือตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของ ครม.

แรงงาน

การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยตามข้อ 1 และ 2 ให้จ่ายเป็นรายเดือนสำหรับเศษของเดือนให้คำนวณจ่ายเป็นรายวัน และให้นำบทบัญญัติมาตรา 57 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 มาใช้บังคับกับการคำนวณค่าจ้างรายวันเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน โดยอนุโลม

โดยระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ผู้ประกันตน /ผู้มีสิทธิ ยื่นคำขอฯ ได้ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo