Business

การบินไทยถก ‘สหกรณ์ออมทรัพย์’ สร้างความมั่นใจจ่ายหนี้ ‘หุ้นกู้’ 4 หมื่นล้าน

“การบินไทย” ถก “สหกรณ์ออมทรัพย์” สร้างความมั่นใจแนวทางจ่ายหนี้ “หุ้นกู้” กว่า 4 หมื่นล้านในอนาคต พร้อมยื่น “ทอท.” ขอคงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอีก 3 ปี

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (22 ก.ค. 63) การบินไทย ได้จัดให้มีการประชุมกับตัวแทนผู้ถือ หุ้นกู้ ของบริษัท จากชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้กลุ่มสหกรณ์ จำนวน 87 สหกรณ์

การประชุมดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และแนวทางการดำเนินธุรกิจของการบินไทยในการสร้างรายได้และชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในอนาคต

การบินไท หุ้นกู้

โดยแกนนำสหกรณ์ผู้ถือหุ้นกู้รายใหญ่ที่เข้าร่วมประชุม มีจำนวน 5 สหกรณ์ ประกอบไปด้วย

  • สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด
  • สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำกัด
  • สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด
  • สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด
  • สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด

การประชุมเป็นไปด้วยดี แกนนำสหกรณ์ทั้ง 5 รับทราบและเห็นด้วยว่า หากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนโดยเร็ว จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและเจ้าหนี้ทุกราย เพื่อให้มีการเริ่มจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการที่กำหนดสิทธิของเจ้าหนี้ได้โดยเร็วที่สุด โดยหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการและการบินไทยจะทำงานร่วมกับกลุ่มเจ้าหนี้ เพื่อหารือแนวทางของแผนฟื้นฟูกิจการอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ บริษัท การบินไทย ยังมีแผนที่จะสื่อสารกับผู้ถือ หุ้นกู้ และเจ้าหนี้อื่นๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสร้างความเข้าใจ และความเชื่อมั่น เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือการสนับสนุนของเจ้าหนี้ทั้งหลาย ในการให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการพร้อมตั้งผู้ทำแผนฯ เพื่อให้บริษัทเริ่มจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยเร็วที่สุดต่อไป

มนัญญา หุ้นกู้ การบินไทย

ห่วงหนี้ หุ้นกู้ “การบินไทย” กว่า 4 หมื่นล้าน

เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้เรียกประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางในการฟื้นฟูกิจการและการปฏิบัติของเจ้าหนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  ให้แก่ผู้แทนสหกรณ์เจ้าหนี้ของการบินไทย

โดยที่ประชุมครั้งนั้น ได้ทำความเข้าใจกับสมาชิกสหกรณ์ที่เป็นเจ้าหนี้ หุ้นกู้ การบินไทย ถึงแนวทางการปฏิบัติหลังการบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ พร้อมขอให้สมาชิกสหกรณ์ไม่ตื่นตระหนก ไม่แตกแยก จะได้มีอำนาจต่อรอง เพราะหนี้สินดังกล่าวเป็นจำนวนเงินจำนวนมากและขอให้สหกรณ์ทุกแห่งทำความเข้าใจกับสมาชิก

“นายกรัฐมนตรีเป็นห่วง ไม่ต้องการให้กระทบสมาชิก ดิฉันพร้อมเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยปัญหา ขอให้สหกรณ์มั่นใจว่ารัฐมนตรีคนนี้ช่วยเขาได้ จะดูแลให้เต็มที่ จากที่เห็นกันว่าเราทำงานอะไรต้องมุ่งมั่น ให้ประชาชน สมาชิก เดินในทางที่ถูกต้อง ยืนยันเงินกว่า 40,000 ล้านบาท จะไม่หายไปมีแผนรองรับผลกระทบ เมื่อไปสู่แผนฟื้นฟูของศาลล้มละลาย” น.ส.มนัญญา กล่าว

S 29212703

“การบินไทย” ขอ “ทอท.” คงมาตรการช่วยเหลือ

เมื่อเร็วๆ นี้ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนการฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า ขณะนี้คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินไทย ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ติดตามงานเป็นระยะ

ในส่วนของกระทรวงคมนาคมที่ตนได้รับมอบหมายนั้น เป็นการติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาที่การบินไทยมีระหว่างหน่วยงานด้านการบินในสังกัดกระทรวงคมนาคม

สำหรับความคืบหน้าในขณะนี้ ตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท., กรมท่าอากาศยาน (ทย.), บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สรุปข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาที่มีระหว่างการบินไทย พร้อมทั้งพิจารณาข้อเสนอที่การบินไทยยื่นขอมา ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่

“ตอนนี้เห็นว่าการบินไทยยื่นข้อเสนอ ขอให้สัญญาที่ปัจจุบันมีกับทุกหน่วยงานยังคงมีกำหนดหมดอายุตามสัญญาเดิม ขอให้ไม่มีการยกเลิกสัญญาก่อน ซึ่งตอนนี้ก็ทราบว่าทุกหน่วยงานกำลังตีความทางกฎหมายว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ส่วนสัญญาไหนที่หมดอายุก็จะนำไปพิจารณาว่าเข้าข่ายต้องทำ PPP อย่างไร ก็ต้องปรึกษาหน่วยงานกฎหมายของ PPP ด้วย” นายชัยวัฒน์กล่าว

เลาจน์ การบินไทย สุวรรณภูมิ1456

นอกจากนี้ การบินไทยยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับการขอสิทธิต่างๆ เพื่อช่วยเหลือกิจการ อาทิ ขอให้ ทอท. พิจารณาขยายสิทธิพิเศษช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบิน ในเรื่องของค่าเช่าอาคารสำนักงาน และค่าจอดอากาศยาน ตามเงื่อนไขที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการจากผลกระทบโควิด -19 โดยเมื่อครบกำหนดของมาตรการดังกล่าวแล้ว ขอให้ ทอท. พิจารณาขยายสิทธิพิเศษไปอีก 3 ปี เป็นต้น

นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า สิทธิพิเศษของการบินไทย ที่กระทรวงฯ มีการพิจารณาแล้วเสร็จในขณะนี้ คือ ประเด็นของสิทธิการบิน ที่ก่อนหน้านี้การบินไทยจะอยู่ในฐานะที่ปรึกษาในการเจรจาสิทธิการบินระหว่างประเทศ แต่หลังจากการบินไทยสิ้นสภาพการเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแล้ว กระทรวงฯ ก็ไม่สามารถมอบสิทธิพิเศษดังกล่าวให้การบินไทยได้ แต่จะปรับให้การบินไทยเป็นผู้สังเกตการณ์ในการเจรจาสิทธิการบิน และกระทรวงฯ จะสอบถามความต้องการของการบินไทยทุกครั้งก่อนเจรจาสิทธิการบิน ในฐานะสายการบินแห่งชาติ

“ผมมั่นใจว่าการบินไทยจะฟื้นได้ เพราะที่ผ่านมาเขาก็ทำงานอย่างคล่องตัว มีการบริหารจัดการธุรกิจได้ เพียงแต่องค์กรใหญ่เกินไป ทำให้อุ้ยอ้าย วันนี้ถึงเวลาที่เขาต้องปรับตัว และเดินหน้าให้ได้ ซึ่งวันนี้รัฐบาลก็ยังพร้อมสนับสนุนการบินไทย และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ก็มีอีกขาที่จะคอยช่วยเหลือสายการบินแห่งชาติ นอกเหนือจากบทบาทของการเป็นเจ้าหนี้”นายชัยวัฒน์กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo