Business

คาดจ่ายเงินเยียวยา 1.5 หมื่นบาท ‘ประกันสังคมมาตรา 33’ ได้กลางเดือน ส.ค.

“โฆษกคลัง” คาดจ่ายเงินเยียวยา 1.5 หมื่นบาท “ประกันสังคมมาตรา 33” ได้ใน 3-4 สัปดาห์ หลังจาก ครม. อนุมัติ

ประชาชนหลายกลุ่มได้รับเงินเยียวยาโควิด-19 จากรัฐบาลไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่เข้าร่วมโครงการเราไม่ทิ้งกัน, เกษตรกร, ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ล็อตเก็บตก และกลุ่มเปราะบาง

อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แต่ไม่ได้รับเงินเยียวยาใดๆ โดยหนึ่งในนั้นคือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ของกองทุนประกันสังคม ซึ่งเพิ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ และต้องตกงานประมาณเดือนเมษายน 2563

เนื่องจากผู้ประกันตนกลุ่มนี้จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 6 เดือนตามเงื่อนไขของกองทุนประกันสังคม จึงไม่ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานหรือตกงาน และผู้ประกันตนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้รับเงินเยียวยา 1.5 หมื่นบาทจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน เพราะจังหวะนั้นโครงการเราไม่ทิ้งกัน ได้ปิดการลงทะเบียนไปแล้ว

ประกันสังคมมาตรา 33 1.5 หมื่นบาท

ประกันสังคมมาตรา 33 ได้เยียวยา 1.5 หมื่นบาท

เมื่อวันนี้ (19 ก.ค. 63) กระทรวงแรงงานจึงเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งยังไม่ได้รับการเยียวยา หรือ กลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 59,776 คน ที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมไม่ถึง 6 เดือนและเพิ่งว่างงาน

โดย ครม. ได้เห็นชอบโครงการดังกล่าวตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ พร้อมมอบให้ สำนักงานประกันสังคม จ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ประกันตนกลุ่มนี้จำนวน 5,000 บาท 3 งวด คือ งวดเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2563 รวม 15,000 บาท ซึ่งจะจ่ายเงินทั้งหมดเพียงครั้งเดียว

สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการนี้จะอยู่ที่ 896.64 ล้านบาท นำมาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

 

“คลัง” คาดจ่ายเงินได้กลางเดือน ส.ค.

ก่อนหน้านี้ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เมื่อโครงการนี้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว ก็คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินให้ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีสิทธ์เกือบ 6 หมื่นคนได้ภายใน 3-4 สัปดาห์ หรือคำนวณคร่าวๆ ก็ประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2563

โดยตามขั้นตอนคือ เมื่อ ครม. เห็นชอบแล้ว กระทรวงแรงงานก็ต้องเสนอเรื่องให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ดำเนินการกู้เงิน จากนั้นเสนอเรื่องให้สำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติกรองวงเงิน และให้กรมบัญชีกลางดูแลเรื่องการโอนเงินให้ผู้ประกันตนต่อไป

ประกันสังคมมาตรา 33 1.5 หมื่นบาท
ลวรณ แสงสนิท

ได้เงินสมทบว่างงานไม่ถึง 5,000 บาท ลุ้นได้เติมเงิน

นอกจากโครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จ่ายสมทบไม่ถึง 6 เดือนแล้ว กระทรวงแรงงานยังมีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานไม่ถึง 5,000 บาทด้วย

ผู้ประกันตนกลุ่มนี้ คือ ผู้ที่มีเงินเดือนไม่ถึง 8,138 บาท ส่งผลให้ได้รับเงินกรณีว่างงาน 62% ของค่าจ้างรายวัน จากกองทุนประกันสังคมไม่ถึง 5,000 บาทต่อเดือน กระทรวงแรงงานจึงเสนอให้รัฐบาลเติมเงินชดเชยให้ครบเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เท่ากับโครงการเราไม่ทิ้งกันนั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการใช้เงินกู้ฯ ยังไม่ได้อนุมัติวงเงินส่วนนี้ และขอให้กระทรวงแรงงานกลับไปจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนนำกลับมาเสนออีกครั้ง

เนื่องจากกระทรวงแรงงานเสนอให้จ่ายเยียวยาแบบเหมาไปเลย คนละ 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ โดยกระทรวงแรงงานต้องแจกแจงว่า ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม แต่ละรายได้รับชดเชยไปแล้วเท่าไหร่และต้องเติมเงินอีกเท่าไหร่ จึงจะครบ 5,000 บาทต่อเดือน เช่น บางรายได้รับเงินชดเชย 3,800 บาทต่อเดือน ภาครัฐก็จ่ายเพิ่มอีก 1,200 บาท เพื่อให้ครบ 5,000 บาท

ประกันสังคมมาตรา 33 1.5 หมื่นบาท

ผู้ประกันตนมาตรา 33 โวย!

ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการ หรือ พนักงานเอกชน โดยผู้ประกันตนกลุ่มนี้มีทั้งหมด 11 ล้านคน จากผู้ประกันตนทุกประเภทจำนวน 16 ล้านคน

ในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดและสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้ประกันตนมาตรา 33 บางส่วนแสดงความไม่พอใจในระบบประกันสังคม เพราะผู้ที่ยังมีงานทำได้รับความช่วยเหลือน้อยมาก ทั้งที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เช่นกัน ส่วนผู้ที่ว่างงานก็แสดงความไม่พอใจ เพราะการติดต่อสำนักงานประกันสังคมและการโอนเงินทดแทนกรณีว่างงานเป็นไปด้วยความล่าช้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo