Business

ประกันสังคมมาตรา 33 เฮ! ตกงานแต่สมทบไม่ถึง 6 เดือน ได้เยียวยา 1.5 หมื่นบาท

เป็นข่าวดี! สำหรับ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม เพราะเมื่อวาน (21 ก.ค. 63) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งเห็นชอบโครงการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งยังไม่ได้รับการเยียวยา ตามที่ กระทรวงแรงงาน เสนอ

โครงการดังกล่าวจะจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้แก่ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ไม่ถึง 6 เดือน ในรอบ 15 เดือนที่ผ่านมา หรือตกงานประมาณเดือนเมษายน 2563 เนื่องจากลูกจ้างกลุ่มนี้จ่ายเงินสมทบกองทุนฯ ไม่ถึง 6 เดือนตามเงื่อนไข จึงไม่ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานหรือเลิกจ้างจากกองทุนประกันสังคม รวมถึงไม่ได้รับเงินเยียวยา 15,000 บาท จากโครงการเราไม่ทิ้งกันที่ได้ปิดลงทะเบียนแล้ว

ประกันสังคมมาตรา 33

ประกันสังคมมาตรา 33: คาดจ่ายเงินภายใน 1 เดือน

ผู้ประกันตนในระบบ ประกันสังคมมาตรา 33 ที่มีสิทธิ์รับเงินเยียวยาในครั้งนี้มีจำนวน 59,776 คน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชย 5,000 บาท 3 งวด คือ งวดเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2563 รวม 15,000 บาท โดยจะจ่ายเพียงครั้งเดียว

งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการจะอยู่ที่ 896.64 ล้านบาท โดยนำมาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของแผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เคยให้ความเห็นว่า เมื่อโครงการนี้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว ก็คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธ์เกือบ 6 หมื่นคนได้ภายใน 3-4 สัปดาห์

ตามขั้นตอนคือ เมื่อ ครม. เห็นชอบแล้ว กระทรวงแรงงานก็ต้องเสนอเรื่องให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ดำเนินการกู้เงิน จากนั้นเสนอเรื่องให้สำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติกรองวงเงิน และให้กรมบัญชีกลางดูแลเรื่องการโอนเงินให้ผู้ประกันตนต่อไป

ประกันสังคม11 1

ยังไม่เคาะเติมเงินชดเชย

สำหรับผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนไม่ถึง 8,100 บาท ส่งผลให้ได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมไม่ถึง 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งกระทรวงแรงงานเสนอให้รัฐบาลเติมเงินชดเชยให้ครบเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เท่ากับโครงการเราไม่ทิ้งกันนั้น

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการใช้เงินกู้ฯ ยังไม่ได้อนุมัติวงเงินส่วนนี้ และขอให้กระทรวงแรงงานกลับไปจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนนำกลับมาเสนออีกครั้ง

เนื่องจากกระทรวงแรงงานเสนอให้จ่ายเยียวยาแบบเหมาไปเลย คนละ 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ โดยกระทรวงแรงงานต้องแจกแจงว่า ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม แต่ละรายได้รับชดเชยไปแล้วเท่าไหร่และต้องเติมเงินอีกเท่าไหร่ จึงจะครบ 5,000 บาทต่อเดือน เช่น บางรายได้รับเงินชดเชย 3,800 บาทต่อเดือน ภาครัฐก็จ่ายเพิ่มอีก 1,200 บาท เพื่อให้ครบ 5,000 บาท

ประกันสังคม ผู้ประกันตน

ประกันสังคม 3 ประเภท

ล่าสุดสำนักงานประกันสังคม ได้ออกมาเปิดเผย ยอดรวมผู้ประกันตนทั่วประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2563 มีมากถึง 16,407,409 ราย โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

มาตรา 33 จำนวน 11.3 ล้านคน

ประกันสังคมมาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์และอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ มีผู้ประกันตนในระบบจำนวนมากที่สุด 11,295,514 คน

ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับความคุ้มครองใน 7 กรณี ดังนี้ เจ็บป่วย เสียชีวิต ว่างงาน คลอดบุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร

มาตรา 39 จำนวน 1.7 ล้านคน

ประกันสังคมมาตรา 39 คือ เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อน และนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน โดยออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ลาออกจากงาน มีผู้ประกันตนในระบบจำนวน 1,737,744 คน

โดยผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ดังนี้ เจ็บป่วย เสียชีวิต ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ

มาตรา 40 จำนวน 3.4 ล้านคน

ประกันสังคมมาตรา 40 คือ บุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ทำอาชีพอิสระ ไม่มีนายจ้าง มีผู้ประกันตนในระบบจำนวน 3,374,151 คน

โดยผู้ประกันคนมาตรา 40 จะได้รับความคุ้มครอง 3-4-5 ขึ้นอยู่กับทางเลือก ดังนี้ เงินทดแทนการขาดรายได้ ทุพพลภาพ ชราภาพ (บำเหน็จ) สงเคราะห์ และเสียชีวิต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo