Business

อุตสาหกรรมหลัก รับ ‘อานิสงส์โควิด-19’ ตอบโจทย์ ชีวิตวิถีใหม่

อานิสงส์โควิด-19 ดันอุตสาหกรรมหลักเติบโต ทั้งอุตฯอิเล็กทรอนิกส์ เวชภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์รักษาโรค และอาหาร ตอบโจทย์การใช้ชีวิตวิถีใหม่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักของไทยได้รับ อานิสงส์โควิด-19 ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์รักษาโรค และอาหาร ที่ขยายตัวตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากทั่วโลก

อานิสงส์โควิด-19

ทั้งนี้เนื่องจาก ทั้ง 3 อุตสาหกรรมหลักดังกล่าว สามารถตอบสนองความต้องการสินค้า ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ประกอบกับ แนวโน้มจากการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ทั้งสามอุตสาหกรรมหลัก สามารถขยายตัวได้เต็มที่

ด้าน นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การดำรงชีพภายใต้ชีวิตวิถีใหม่หรือ New Normal ได้ส่งผลให้ประชาชน หันมาให้ความสนใจในสินค้า ที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับ อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค มีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ระยะ 5 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม – พฤษภาคม) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 18.50 ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มที่จะขยายตัว ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และจีน เช่น หน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ เป็นต้น

ขณะที่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนได้ปรับเปลี่ยนเป็น การทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home รวมถึง สถานศึกษาที่ได้จัดการเรียนการสอน ผ่านเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้สินค้า Hard disk drive และ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในการจัดเก็บข้อมูล เพื่อรองรับความต้องการใช้งานบนคลาวด์ และ ดาต้า เซ็นเตอร์ เพิ่มขึ้น

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ความต้องการดังกล่าว ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์รวม 5 เดือน ในปี 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 1.02

ในขณะที่ประเทศคู่แข่ง อย่างมาเลเซียและเวียดนาม มีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวม 5 เดือน ในปี 2563 หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 8.46 และ 0.93 ตามลำดับ

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทย ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ส่วนประกอบ และอุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ และมีมูลค่าการส่งออก ไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐฯ และจีน

ด้าน อุตสาหกรรมอาหาร ได้รับอานิสงส์ จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิต ส่งผลให้มีการขยายการผลิต ในหลายผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ที่เก็บรักษาได้นาน

โรงงานอาหาร

 

อุตสาหกรรมอาหาร มีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรวม 5 เดือนแรก ในปี 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน นำโดย ผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้แช่แข็งขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วง 5 เดือนแรกของปีก่อนที่ร้อยละ 30.88 สัตว์น้ำแช่แข็งขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.41 สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.85 และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.07 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหาร ยังมีอุปสรรค ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง ที่ส่งผลให้สินค้าเกษตรลดลง เช่น อ้อย ปาล์มน้ำมัน สับปะรด และมันสำปะหลัง ทำให้วัตถุดิบในบางผลิตภัณฑ์ ไม่เพียงพอต่อความต้องการผลิต ของโรงงาน รวมถึงมาตรการควบคุมการระบาดของต่างประเทศ ได้ส่งผลต่อ ธุรกิจให้บริการด้านอาหาร ทำให้สินค้าประเภท ไก่เนื้อและน้ำตาลในประเทศไทย มีคำสั่งซื้อลดลง

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากโรงงาน ซัพพลายเออร์ และธุรกิจต่าง ๆ กลับมาเปิดตัว ส่งผลต่อการเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเพิ่มการผลิตภาคอุตสาหกรรม ที่ถูกหยุดชะงักตามมาตรการควบคุมโรค

ดังนั้น จึงมองว่าอุตสาหกรรมไทย ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และการผลิตภาคอุตสาหกรรม จะฟื้นตัวต่อเนื่อง หากไม่มีการระบาดซ้ำ หรือกลับมาใช้มาตรการควบคุมโรคในระยะที่ 2 โดยเฉพาะใน 3 อุตสาหกรรมหลักที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง และตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลง ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ New Normal ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญ ที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมไทยกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo