Business

สหรัฐไต่สวน ทุ่มตลาดยางรถยนต์ ทุนจีนในไทยส่อสะเทือนหนัก

สหรัฐไต่สวน ทุ่มตลาดยางรถยนต์ 4 ประเทศรวมทั้งไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ผู้ผลิตยางสัญชาติจีนในไทย กระทบมากที่สุด แนะผู้ประกอบการคุมต้นทุน ควบคู่พัฒนาคุณภาพ

ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ การผลิตยางรถยนต์ในสหรัฐฯ ต้องหยุดลง ยังผลให้สหภาพแรงงานเหล็กสหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบ ยื่นฟ้องให้ สหรัฐไต่สวน ทุ่มตลาดยางรถยนต์ กับยางรถยนต์นำเข้าจากไทย เกาหลีใต้ เวียดนาม และไต้หวัน หลังจากสหรัฐฯ มีการนำเข้ายางรถยนต์จากประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาก

สหรัฐไต่สวน ทุ่มตลาดยางรถยนต์

นอกจากนี้ จีนซึ่งเป็นคู่กรณีที่มีการฟ้องร้องเรื่องการทุ่มตลาดมาก่อน ยังได้เข้าไปขยายการลงทุน หรือควบรวมกิจการยางรถยนต์ในประเทศเหล่านั้นด้วย โดยในกรณีของไทยนั้น โดนกล่าวหาว่า มีการทุ่มตลาด โดยมีส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด (Dumping Margin) สูงสุดในบรรดา 4 ประเทศ

สำหรับกรณีที่ไต่สวนแล้วพบว่า ผิดจริง ผู้ผลิตยางรถยนต์แต่ละบริษัทในไทย มีโอกาสที่จะถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด สูงกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะผู้ผลิตสัญชาติจีนในไทย น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เน้นผลิตยางรถยนต์เพื่อส่งออก ไปยังสหรัฐฯ เป็นหลัก

อีกทั้ง กว่า 2 ใน 3 ของนักลงทุนจีนในไทยนั้น มีไทยเป็นฐานการผลิตเดียว นอกประเทศจีน ทำให้ไม่มีแหล่งผลิตอื่น ส่งออกไปทดแทน ในช่วงระหว่างปรับแก้ไข ให้หลุดจากข้อหา ขณะที่การส่งออกจากจีนเอง ก็มีอุปสรรค หลังถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษียางรถยนต์เป็นร้อยละ 25

ขณะที่ ผู้ผลิตสัญชาติไทย จะได้รับผลกระทบในระดับที่น้อยกว่า เนื่องจากผู้ผลิตไทย ทำตลาดในประเทศด้วย ผนวกกับมีการกระจายตลาดส่งออก ไปยังภูมิภาคต่างๆ ขณะที่สหรัฐฯ เป็นตลาดรองเท่านั้น นอกจากนี้ บางราย ยังมีฐานการผลิตในประเทศอื่น เช่น อินเดีย จึงพอจะมีหนทางกระจายสินค้า ไปยังตลาดอื่นได้ ในระยะสั้น

โรงงานยาง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เพื่อให้หลุดออกจากวงจร ปัญหาการตอบโต้การทุ่มตลาดจากประเทศต่างๆ อย่างถาวร การจัดการต้นทุนการผลิตยางรถยนต์ ให้อยู่ในระดับต่ำ เป็นประเด็นสำคัญ ที่ต้องทำควบคู่ไปกับ การพัฒนาในเรื่องของคุณภาพยาง โดยเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ผู้บริโภค มีมุมมองเชิงบวกต่อสินค้า อันจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ผลิต สามารถทำตลาดได้ด้วยกลยุทธ์ราคาที่หลากหลาย และเหมาะสมมากขึ้น ดังเช่น กรณีรถยนต์สัญชาติจีน ที่มีการพัฒนา จนปัจจุบันได้รับการตอบรับค่อนข้างดี จากตลาดในระดับโลก

​สำหรับปี 2563 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกยางรถยนต์ของไทย น่าจะลดลงเหลือเพียง 4,000 ล้านดอลลาร์ฯ โดยเป็นผลจากการชะลอตัว ของเศรษฐกิจโลก อันเนื่องมาจาก การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือหดตัวร้อยละ 21 จากปี 2562 ที่ส่งออกยางรถยนต์ได้เป็นมูลค่า 5,070 ล้านดอลลาร์ฯ

ทั้งนี้ หากแยกระดับผลกระทบ ที่ได้รับของยางรถยนต์แต่ละประเภท ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกหดตัวอย่างรุนแรงเช่นนี้ การส่งออกยางรถยนต์ สำหรับตลาดอะไหล่รถยนต์ แม้ว่าจะหดตัวเช่นกัน แต่ก็น่าจะยังพอมีโอกาสเดินหน้าต่อไปได้ ดีกว่าตลาดยางรถยนต์ OEM ซึ่งต้องเผชิญกับปัจจัยลบ จากปริมาณการผลิตรถยนต์ใหม่ ที่ตกลงอย่างหนักทั่วโลก

ก่อนหน้านี้ นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า กรมได้ประชุมร่วมกับ ผู้ประกอบการส่งออกยางรถยนต์ ถึงปัญหา สหรัฐ ไต่สวนการทุ่มตลาดยางรถยนต์ และตั้งทีมไทยแลนด์เพื่อต่อสู้ข้อกล่าวหา ประกอบด้วยกรมการค้าต่างประเทศ ทูตพาณิชย์ประจำกรุงวอชิงตันดีซี และภาคเอกชน

สำหรับกระบวนการไต่สวน จะใช้เวลา 1 ปี โดยการจะพิจารณาว่าเข้าข่ายการทุ่มตลาดหรือไม่นั้น จะดูว่า ราคาส่งออกต่ำกว่ามูลค่าปกติของสินค้าชนิดเดียวกัน ที่ขายภายในประเทศผู้ส่งออก หรือผู้ผลิตเองหรือไม่ หรือเกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ นั้นหรือไม่ และหากเกิดความเสียหาย จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น มาจากการทุ่มตลาด

หากไต่สวนแล้วพบว่า มีความผิดสหรัฐฯจะมีการเรียกเก็บภาษีตามอัตราการทุ่มตลาดของผู้ประกอบการแต่ละรายซึ่งจะไม่เท่ากัน โดยระหว่างนี้ไทยยังสามารถส่งออกได้ตามปกติ

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ระบุว่า ได้รับการร้องเรียนจาก ยูไนเต็ด สตีลเวิร์คเกอร์ ตัวแทนของโรงงานผลิตยางรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่า ผู้ผลิตในประเทศมีสัดส่วนการตลาดน้อยลง กำไรลดลง และมีการปลดพนักงาน ทั้งที่สหรัฐอเมริกานำเข้ายางรถยนต์จากต่างประเทศปีละประมาณ 4,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่งเป็นการนำเข้าจากประเทศไทย รองลงมาคือเกาหลีใต้ โดยผู้ผลิตยางรถยนต์ได้ลดราคาสินค้าเพื่อทุ่มตลาด เช่น เกาหลีใต้ลดลงร้อยละ 43 – 195 ส่วนผู้ผลิตประเทศไทยลดลงร้อยละ 106 – 217.5

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo