Business

จับเทรนด์แรง ‘Gold Miss’ สวย รวย เก่ง ขออยู่เป็นโสด สะท้อนปัญหาแรงงาน

“Gold Miss” เทรนด์มาแรง ผู้หญิงสวย รวย เก่ง เลือกอยู่เป็นโสด นำมาซึ่งอัตราการเกิดลดลง แนะภาครัฐวางนโยบายชวนน้องแต่งงาน กันปัญหาแรงงานขาดแคลน

ปัจจุบัน ในกลุ่มประเทศเอเชียที่พัฒนาแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ พบปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่า “Gold Miss” ในกลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง มีสถานภาพทางสังคมที่สูง โดยกลุ่มนี้ ไม่เพียงแค่จะชะลอการแต่งงาน แต่กลับเลือกที่จะไม่แต่งงานและคงสถานภาพการอยู่เป็นโสดอีกด้วย

Gold Miss เทรนด์ผู้หญิงยุคใหม่

นอกจากนี้ ยังพบว่า จากการที่สัดส่วนผู้หญิงโสดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีแนวโน้มที่จะแต่งงานช้าลง โดยเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า “Marriage Strike” ซึ่งสามารถพบได้ในหลายประเทศทั่วโลก

ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า จำนวนผู้หญิงโสดที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้คำถามที่ว่า “ทำไมน้องไม่แต่งงาน?” กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจทั่วโลก ซึ่งจากผลการศึกษาในประเทศไทย พบว่าผู้หญิงไทยที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะเลือกอยู่เป็นโสดมากขึ้น หรือหากแต่งงานก็มีแนวโน้มที่จะมีจำนวนลูกน้อยลง

ทั้งนี้ ย่อมส่งผลไปยังอัตราการเกิดของประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และกระทบต่อจำนวนกำลังแรงงานในอนาคต ก่อให้เกิดคำถามว่า รัฐจะมีนโยบายใดบ้างในการแก้ปัญหาดังกล่าว

งานวิจัยที่มีชื่อว่า “Gold Miss” or “Earthy Mom”? Evidence from Thailand (Liao and Paweenawat, 2019a) ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงไทยกับการตัดสินใจแต่งงานและมีลูก โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วง 30 ปี (พ.ศ. 2528 – 2560) พบข้อสรุปที่น่าสนใจ 3 ประการ ดังนี้

1. ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มเป็นโสดมากขึ้น

งานวิจัยชิ้นนี้พบปรากฏการณ์ “Marriage Strike” ในประเทศไทย โดยผู้หญิงไทยที่มีการศึกษาสูง มีแนวโน้มที่จะชะลอการแต่งงาน และอยู่เป็นโสดมากขึ้น รวมถึงคนโสดในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดในช่วง ค.ศ. 1980s

เมื่อพิจารณาสัดส่วนคนโสด (คนที่ไม่เคยแต่งงาน) โดยแยกตามระดับการศึกษาจะพบว่า ร้อยละ 50 – 60 ของผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปเป็นโสด และมีเพียงร้อยละ 15 – 20 ของผู้หญิงไทยที่จบชั้นมัธยมศึกษา และร้อยละ 10 – 15 ของผู้หญิงไทยที่จบชั้นประถมศึกษาเป็นโสด

นอกจากนี้ ยังพบปรากฏการณ์ “Gold Miss” ในประเทศไทยเช่นกัน โดยผู้หญิงไทยที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาของผู้หญิงที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนเลือกที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้น และไม่มีลูกเลย

งานวิจัยของ Hwang (2016) พบว่า ปรากฏการณ์ “Gold Miss” นี้ มีแนวโน้มที่จะเกิดในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว และเกิดจากทัศนคติทางเพศที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น (intergenerational transmission of gender attitude) โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเอเชีย ที่มีรากฐานวัฒนธรรม ที่หยั่งลึกในเรื่องทัศนคติที่มีต่อเพศหญิง เพราะสังคมในประเทศกลุ่มนี้มีความคาดหวังต่อผู้หญิงสูง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการแต่งงาน ซึ่งผู้หญิงมีบทบาททั้งในบ้านและนอกบ้าน นอกจากจะเป็นแม่บ้านเลี้ยงดูลูกและดูแลความเรียบร้อยของบ้านแล้ว ผู้หญิงยังถูกคาดหวังให้มีบทบาทนอกบ้านในฐานะหนึ่งในแรงงานหลักที่ต้องหาเงินเข้าบ้านและเลี้ยงครอบครัวด้วย

Gold Missสวย รวย เก่ง เทรนด์มาแรง

ความคาดหวังของสังคมเหล่านี้ ทำให้ผู้หญิงโดยเฉพาะกลุ่มที่มีการศึกษาสูง เลือกที่จะให้ความสำคัญกับ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และชีวิตส่วนตัวมากกว่าการแต่งงานมีครอบครัว จึงมีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดมากยิ่งขึ้น

2. ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนลูกน้อยลง

ในกรณีของประเทศไทย จำนวนลูกของผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มการศึกษาอื่น ๆ มีแนวโน้มคงที่หรือลดลงเพียงเล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่น หากเทียบภายในกลุ่มการศึกษาเดียวกัน พบว่า ผู้หญิงที่เกิดช่วง ค.ศ. 1950s และจบปริญญาตรีขึ้นไปจะมีลูกโดยเฉลี่ย 1.3 คนง

ขณะที่กลุ่มที่เกิดช่วง ค.ศ. 1980s มีลูกเพียง 0.7 คน ซึ่งลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จำนวนลูกของผู้หญิงที่จบมัธยมศึกษาและประถมศึกษามีการลดลงเพียงเล็กน้อย โดยเฉลี่ยจะยังอยู่ที่ 1.2 คนและ 1.5 คน ตามลำดับ

3. ระดับการศึกษา เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจแต่งงาน และการมีลูกในประเทศไทย

ระดับการศึกษาของผู้หญิงไทยที่เพิ่มสูงขึ้น แม้จะส่งผลบวกต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ส่งผลลบต่อการตัดสินใจแต่งงานและการมีลูกด้วย การที่ผู้หญิงไทยมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ทำให้มีโอกาสพบคู่ครองที่มีความเหมาะสมกัน ทั้งระดับรายได้และการศึกษาน้อยลง รวมถึงทำให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ได้รับค่าตอบแทนแรงงานสูงขึ้น และทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสของผู้หญิง จากการลาคลอดและเลี้ยงดูลูกเพิ่มขึ้น

2 4

นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงยังอาจเลือก “คุณภาพ” ในการเลี้ยงดูลูกมากกว่า “จำนวน” และอาจมีปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือไปจากระดับการศึกษา ที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังการตัดสินใจแต่งงานและการมีลูกอีกด้วย

ปัจจัยที่กล่าวถึงทั้งหมดนี้ สามารถอธิบายการลดลงของอัตราการเกิด ในประเทศไทย ในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น ประเทศไทย ควรจะต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหา “ทำไมน้องไม่แต่งงาน?” อย่างเร่งด่วนและจริงจัง โดยภาครัฐควรมี “นโยบายชวนน้องแต่งงาน” เพื่อกระตุ้นให้คนหนุ่มสาว ต้องการแต่งงานและมีลูก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ ในประเทศอื่นนั้น ก็มีนโยบายกระตุ้นการแต่งงานและการมีลูกอย่างเป็นรูปธรรม เช่น สิงคโปร์มีการให้ความสำคัญตั้งแต่การช่วยหาคู่ชีวิตให้คนโสด การให้เงินช่วยเหลือคู่สมรสใหม่ ในการจัดหาซื้อบ้าน เพื่อเริ่มต้นชีวิตคู่ และหากมีลูกก็มีการให้เงินทุนสนับสนุนทั้งการศึกษา สุขภาพ การลดหย่อนภาษี การขอคืนภาษีเพื่อช่วยเลี้ยงลูก

ขณะที่ประเทศ ในกลุ่มสหภาพยุโรป เช่น นอร์เวย์และสวีเดน มีเงินช่วยเหลือ ในการจ่ายค่าบริการดูแลเด็ก และบางประเทศ มีกฎหมายแรงงาน ที่เอื้อต่อการดูแลลูก เช่น สวีเดน พ่อแม่ที่มีลูกอายุน้อยสามารถ ขอลดเวลาทำงานได้ สหราชอาณาจักร อนุญาตให้พ่อแม่มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo