Business

‘เพชรล้นตลาด’ ยักษ์ 5 รายแบกสต็อกอ่วม 3.5 พันล้านดอลลาร์

เพชรล้นตลาด ผลพวงพิษโควิด-19 ส่งผลยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมเพชร 5 รายแบกสต็อกรวม 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดสิ้นปีอาจพุ่งถึง 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ทั่วโลกทยอยใช้มาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ อุตสาหกรรมเพชร เกิดภาวะ เพชรล้นตลาด และได้รับผลกระทบอย่างหนักตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่เหมือง ผู้ตัดและเจียระไนเพชร ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก และผู้บริโภค

เพชรล้นตลาด

สถานการณ์ล่าสุดในเดือนมิถุนายน De Beers บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเพชร แทบไม่สามารถขายเพชรได้เลย และเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มียอดขายเพียง 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อนหน้าที่มียอดขายถึง 416 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด ของบริษัทที่ก่อตั้งมายาวนานกว่า 130 ปี อย่าง De Beers

ขณะที่ Gemdax บริษัทชั้นนำด้านที่ปรึกษาและวิเคราะห์อุตสาหกรรมเพชร เปิดเผยว่า ผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ 5 อันดับแรก มีเพชรก้อนคงเหลือรวมกันคิดเป็นมูลค่าราว 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสิ้นปี 2020 อาจมีมูลค่าเพิ่มสูงถึง 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นมูลค่าถึง 1 ใน 3 ของเพชรก้อนที่ผลิตได้ต่อปี

ทั้งนี้ แหล่งผลิตเพชรที่สำคัญของโลกอย่างเช่น เลโซโท แองโกลา แอฟริกาใต้ ต่างลดกำลังการผลิตลงอย่างมาก นับตั้งแต่ก่อนช่วงโควิด-19 เนื่องด้วยภาวะเพชรล้นตลาดจากปีก่อน มีการคาดการณ์จาก Mr. Zimnisky นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเพชรว่า ปี 2020 ปริมาณกำลังผลิตเพชรทั่วโลกจะลดลงต่ำกว่า 110 ล้านกะรัต จากกำลังการผลิตมากกว่า 140 ล้านกะรัต เมื่อปีก่อน ซึ่งถือเป็น ปริมาณเพชร ที่ผลิตได้ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปลายยุค 90 เป็นต้นมา

เพชร1

ทั้งหมดนี้ เป็นผลมาจากปริมาณ เพชรล้นตลาด สะสมมาจากปีก่อน และสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การระบายเพชรคงเหลือ เป็นไปได้ยาก แม้ว่าเหมืองเพชรรายใหญ่ จะลดกำลังผลิตก็ตาม

แต่ทั้งนี้ De Beers และ ALROSA สองบริษัทผู้นำตลาดต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ควรรักษาเพชรค้างสต็อกไว้มากกว่าระบายออกด้วยการแข่งกันลดราคา เห็นได้จากเดือนมีนาคมและเมษายนราคาเพชรร่วงลงถึง 40% แต่ราคาก็ดีดกลับขึ้นมาได้ในเดือนพฤษภาคมเกือบทั้งหมด

แม้ว่าสถานการณ์ทั่วไปยังไม่ดีนัก แต่ก็เริ่มมีสัญญาณการบริโภคกลับมา Chow Tai Fook บริษัทค้าปลีกเครื่องประดับรายใหญ่ของโลก ได้ให้ข้อมูลว่า ประชาชนเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเฉพาะในจีนแผ่นดินใหญ่ ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายจากโควิด-19

เห็นได้จาก ยอดขายในปีนี้ช่วงเมษายนถึงพฤษภาคมนั้นดีขึ้นกว่าช่วงมกราคมถึงมีนาคม โดยโฆษกของ Chow Tai Fook กล่าวว่า ในระยะสั้นนั้น สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่สถานการณ์จะดีขึ้น ในช่วงระยะกลางถึงระยะยาว สำหรับตลาดเครื่องประดับในจีน

de beers

ท่ามกลางความไม่แน่นอนรอบด้าน มีตัวอย่างแบรนด์ชื่อดังในไทย ในการปรับตัวให้เข้ากับวิกฤติที่เกิดขึ้น แม้ว่าการขายหน้าร้าน จะไม่สามารถทำได้

แบรนด์ชั้นนำของไทยอย่างบิวตี้เจมส์ (Beauty Gems) เลือกใช้วิธีการรักษาสัมพันธภาพที่ดี กับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ โดยการส่งอาหารและเครื่องดื่ม ให้ลูกค้าเพื่อแทนความห่วงใย และสร้างความรู้สึกที่ดีร่วมกัน

ขณะที่ Jubilee Diamond ซึ่งมีการขายเพชรออนไลน์ควบคู่ไปกับการขายหน้าร้าน ก็หันมาทำตลาดออนไลน์เต็มตัว มีการทำโปรโมชั่นอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นส่วนลดสูงสุดถึง 65% ผ่อนบัตรเครดิต 0% ได้นาน 10 เดือน หรือคืนเงินผ่านบัตรเครดิต และมีบริการส่งเพชรตรงถึงบ้านของลูกค้าด้วย

อีกหนึ่งแบรนด์ดังอย่าง เพชรจัสมิน (JASMIN) ใช้การขายเพชรผ่านไลน์ออฟฟิเชียล (Line OA) รวมทั้งมีบริการนำเพชรไปให้ลูกค้าเลือกถึงที่บ้าน โดยสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้ามั่นใจว่าพนักงานของแบรนด์ปลอดภัยจากโควิด-19

ไม่ว่าสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลก จะกระทบ อุตสาหกรรมเพชร รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับอย่างไร ในวิกฤตย่อมมีโอกาส หากเรารู้จักปรับตัว เพราะถึงอย่างไรธรรมชาติของมนุษย์นั้นย่อมมีสังคม การพบปะสังสรรค์ระหว่างกัน การทำกิจกรรมนอกบ้าน รวมทั้งการซื้อของขวัญให้คนที่รัก เพชรก็ยังเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความเลอค่าอมตะอยู่นั่นเอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo