Business

ติดตั้ง ‘โซลาร์เซลล์’ บนหลังคาบ้าน โอกาสน่าลงทุน ถ้ารัฐจูงใจ

โซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน พลังงานเล็งงัดมาตรการจูงใจ ผลักดันโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะเปิดโอกาสเอกชน รับซื้อไฟได้

ปัจจุบัน กระทรวงพลังงาน กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณามาตรการสร้างแรงจูงใจ ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อผลักดันโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า ที่เป็นพลังงานสะอาดเพื่อใช้เอง ผ่านการติดตั้งแผง โซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน หรือ โซลาร์รูฟท็อป

โซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน

ในเบื้องต้น มีแนวทางที่จะปรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าเป็นราว 2.00-2.20 บาทต่อหน่วย หลังจากที่ในปี 2562 มีการเปิดโครงการเป็นครั้งแรก โดยรับซื้อไฟส่วนเกินจากการใช้งานในอัตรา 1.68 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปภาคครัวเรือน ที่ในปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะยังไม่ติดตั้งแบตเตอรี่ เพราะยังคงมีต้นทุนที่สูง

อย่างไรก็ดี หลังปิดรับสมัครโครงการ ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีผู้สมัครและผ่านเกณฑ์ ไม่มากนัก โดยคิดเป็นพลังงานไฟฟ้ารวมราว 3 MW จากเป้าหมาย 100 MW จึงได้มีแนวทางที่จะปรับเพิ่มอัตราการรับซื้อไฟ สำหรับโครงการในปีนี้

แนวทางดังกล่าว น่าจะเพิ่มแรงจูงใจได้ในระดับหนึ่ง เพราะเป็นระดับราคาที่สูงกว่าต้นทุนการผลิตไฟ โดยโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งอยู่ที่ราว 1.85 บาทต่อหน่วย และสามารถลดระยะเวลาการคืนทุนลงได้ราว 1 ปี และน่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เพิ่มขึ้น แก่ธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป ในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะจากตลาดโซลาร์รูฟท็อปสำหรับบ้านพักอาศัย 2 กลุ่มที่มีศักยภาพ ดังนี้

1. กลุ่มโครงการบ้านจัดสรรใหม่ ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมาพร้อมกับตัวบ้าน ซึ่งมักติดตั้งพร้อมกันเป็นจำนวนหลายร้อยหลัง ทำให้เกิดการประหยัดต้นทุนจากขนาด และมักออกแบบต้นทุนรวมไปกับการสร้างบ้าน

โซลาร์รูฟท็อป

ในขณะที่ผู้บริโภค ก็สามารถขอเงินกู้ในการผ่อนบ้านดังกล่าวได้ง่าย และมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า การกู้เงินเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแยกต่างหาก ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจซื้อบ้านดังกล่าว เพื่อประหยัดค่าไฟ แม้ว่าผู้บริโภคอาจมีพฤติกรรม อยู่บ้านช่วงกลางวันไม่นานนัก

ปัจจุบันตลาดในกลุ่มนี้ มีขนาดอยู่ที่ราว 2 MW และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยราวร้อยละ 20 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในปี 2563 ผู้ประกอบการบ้านจัดสรรในกลุ่มนี้ ได้เริ่มขยายฐานลูกค้าจากบ้านเดี่ยวราคา 4 ล้านบาทขึ้นไป สู่ทาวน์โฮมราคา 2 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมีฐานตลาดที่กว้างกว่า ทำให้มีโอกาสเติบโตได้อีกในอนาคต

อย่างไรก็ดี การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปดังกล่าว มักดำเนินการโดยบริษัทในเครือของผู้ประกอบการบ้านจัดสรร หรือร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการอื่นอาจมีโอกาสทางธุรกิจอันจำกัด ในตลาดกลุ่มนี้

2. กลุ่มบ้านทั่วไป บ้านจัดสรรเดิม ที่ยังไม่ได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป โดยเฉพาะครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งระบบไฟฟ้าไม่เสถียร และกลุ่มผู้พักอาศัย ที่มีพฤติกรรมใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมาก เช่น กลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่ใช้บ้านเป็นสำนักงาน เป็นต้น ทำให้เกิดความต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าในช่วงกลางวัน

โซลาร์เซลล์

ปีจจุบันตลาดในกลุ่มนี้ มีปริมาณติดตั้งอยู่ราว 4.9 MW และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การติดตั้งดังกล่าวมักมีระดับคุณภาพที่หลากหลาย ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ของโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ที่ได้กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย ในการเชื่อมต่อกับระบบของการไฟฟ้า ส่งผลให้ครัวเรือนในกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาของโครงการ

ดังนั้น ในประเด็นดังกล่าว จำเป็นต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมให้ทั้งครัวเรือนและผู้ประกอบการ โซลาร์รูฟท็อป เลือกอุปกรณ์ติดตั้งให้ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กลุ่มที่-2 ซึ่งเป็นกลุ่มบ้านพักอาศัยเดิม และมีฐานตลาดขนาดใหญ่ น่าจะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่สุด ในการเร่งการเติบโตของตลาดรับติดตั้ง โซลาร์รูฟท็อป ในระยะข้างหน้า หากครัวเรือนได้รับแรงจูงใจที่มากพอ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาประเด็นด้านแรงจูงใจ นอกเหนือจากการปรับระดับอัตรารับซื้อไฟฟ้า ซึ่งมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำให้สูงเกินควร จนทำให้ครัวเรือนมุ่งแต่เพียงลงทุนเพื่อการขายไฟเท่านั้น

ทางเลือกอีกทางหนึ่งคือ การขยายระยะเวลารับซื้อไฟจาก 10 ปี เป็น 25 ปี ซึ่งเท่ากับอายุใช้งาน ของแผงโซลาร์เซลล์ และเทียบเท่ากับระยะเวลารับซื้อไฟ ของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับภาคเอกชน ที่เกิดขึ้นช่วงก่อนหน้า

แนวทางทั้งสองดังกล่าวเมื่อใช้ควบคู่กันจะทำให้ระยะเวลาคืนทุนลดลงจากราว 10.1 ปีในกรณีที่ใช้แนวทางปรับอัตรารับซื้อไฟอย่างเดียว ไปสู่ระดับ 7.7 ปี ซึ่งน่าจะมีส่วนสร้างแรงดึงดูด ให้ครัวเรือนสนใจลงทุน ใช้งาน โซลาร์รูฟท็อป มากขึ้น

สำหรับในระยะยาว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ โซลาร์รูฟท็อป ในวงกว้างมากขึ้น ภาครัฐอาจจำเป็นต้อง ปรับปรุงกฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายไฟฟ้า เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน สามารถขายไฟให้แก่ภาคครัวเรือนได้ โดยจะก่อให้เกิดธุรกิจที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนโซลาร์รูฟท็อป และขายไฟให้แก่ครัวเรือน ในราคาที่ย่อมเยา ซึ่งจะช่วยลดภาระการลงทุนของภาคครัวเรือน คล้ายคลึงกับธุรกิจขายไฟระหว่างเอกชนที่กระทำได้ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าว หากดำเนินการพร้อมกันเป็นจำนวนมาก โดยเอกชน จะก่อให้เกิดการประหยัดต้นทุน รวมทั้งสามารถออกแบบ ให้ระบบมีแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงานไว้ใช้ ในช่วงกลางคืนได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo