สินค้าส่งออกไทย 5 กลุ่มอาการ หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 ส่งผล 5 เดือนแรก ภาพรวมส่งออกหดตัวแล้ว 3.7% คาดครึ่งปีหลัง ยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง
ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า หากพิจารณาจากตัวเลขส่งออกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาและ 5 เดือนแรกปี 2563 ที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก สามารถแบ่งกลุ่ม สินค้าส่งออกไทย ได้ 5 กลุ่มอาการ ดังนี้
- กลุ่มแข็งแรง มีภูมิต้านทานสูง
คือ กลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ทั้งในช่วงก่อนและระหว่างโควิด-19 ระบาด โดยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร และอาหาร ที่ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพ นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมหลายชนิดก็เป็นที่ต้องการมากขึ้น เพื่อตอบสนองกระแส มาตรการเว้นระยห่างทางสังคม และกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยดังกล่าว เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าประเทศไทย มีภูมิต้านทาน และมีศักยภาพในสินค้าเหล่านี้ ประเด็นในเชิงนโยบาย จึงอยู่ที่การสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างแบรนด์ ให้สินค้าไทยกลุ่มนี้ กลายเป็นสินค้าในใจของผู้บริโภคทั่วโลก ที่เน้นคุณภาพมากกว่าราคา รวมถึงการส่งเสริมการลงทุน และพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต และจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ โดยเฉพาะเพื่อตอบสนองกระแสความมั่นคงด้านอาหาร และสุขภาพที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน
- กลุ่มฟื้นตัวชั่วขณะ
คือ กลุ่มสินค้าที่การส่งออกเริ่มชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า แต่กลับได้อานิสงส์ จากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ในระยะสั้น แนวทางในการเสริมแกร่ง ของสินค้ากลุ่มนี้ในระยะถัดไป อาจเป็นการหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่ยังไม่อิ่มตัว เพื่อกระจายความเสี่ยง รวมถึงการแตกไลน์การผลิตสินค้า ให้มีความหลากหลายขึ้น
- กลุ่มติดเชื้อ
กลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวสูงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แต่มาหดตัวในช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของมูลค่าส่งออกรวม ที่ได้รับผลกระทบจากราคา และอุปสงค์ของภาคการผลิต และภาคการขนส่งที่ลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ และ เว้นระยะห่างทางสังคม
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมข้างต้นส่วนใหญ่ ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ และเป็นฐานการผลิตสำคัญ ของนักลงทุนต่างชาติ แม้ในระยะสั้น อาจเผชิญกับภาวะช็อก จากอุปสงค์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว หรือมีการเลื่อนการบริโภคออกไป แต่หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น สินค้ากลุ่มดังกล่าว ก็มีโอกาสกลับมาฟื้นตัว
- กลุ่มภาวะแทรกซ้อน
กลุ่มสินค้าที่มูลค่าส่งออกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวค่อนข้างต่ำ จากปัญหาเชิงโครงสร้าง และกระแสดิสรัปชั่น ในหลายมิติ อีกทั้งถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาด ของโควิด-19
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสินค้าเกษตร ที่ส่วนใหญ่ส่งออกในลักษณะสินค้าขั้นต้น และต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง การส่งออกของไทย อาจถึงเวลาที่ต้องปรับโครงสร้างการผลิตครั้งใหญ่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือบางอุตสาหกรรม ก็อาจต้องย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ และเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง กลับมายังประเทศไทย
- กลุ่มอาการวิกฤติ
กลุ่มสินค้าที่มูลค่าส่งออก หดตัวตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และหดตัวต่อเนื่องในช่วง โควิด-19 พบว่า การส่งออกของไทย ในสินค้ากลุ่มนี้กระจุกตัวอยู่ใน อุตสาหกรรมที่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง และมูลค่าเพิ่มต่ำ รวมทั้งถูกซ้ำเติมจากกระแส เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น อุตสาหกรรมเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และปรับตัวให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก
แม้ สินค้าส่งออกไทย หลายกลุ่มอาการข้างต้น จะหดตัวลงจากผลกระทบของโควิด-19 แต่ในภาพรวมแล้ว การส่งออกของไทย ยังหดตัวน้อยกว่าคู่แข่งหลายประเทศ ที่อาจมีความหลากหลายของสินค้าส่งออกน้อยกว่าไทย
ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้อุปสงค์จากต่างประเทศ ที่เคยเป็นเส้นเลือดใหญ่ ในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทย ยังอยู่ในภาวะอ่อนแรงลงต่อเนื่อง สะท้อนได้จากมูลค่า การส่งออกของไทย ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2563 ที่หดตัวถึง 22.5% ต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี ผลักดันให้การส่งออก 5 เดือนแรกปี 2563 หดตัว 3.7%
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากมองในแง่ดีอาจกล่าวได้ว่าวิกฤตโควิด-19 ได้เข้ามาเป็นบททดสอบภูมิต้านทาน การส่งออกของไทย ว่าจะสามารถทนทานกับความไม่แน่นอนหรือวิกฤตอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้มากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทย ในช่วงที่เหลือของปี 2563 ที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูง EXIM BANK ได้เตรียมเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ส่งออกสินค้า ในแต่ละกลุ่มอาการข้างต้น ทั้งมาตรการเยียวยา และฟื้นฟู สำหรับสินค้าที่ได้รับผลกระทบระยะสั้นจาก โควิด-19
นอกจากนี้ ยังเตรียมมาตรการ เสริมความแข็งแกร่งและสร้างมูลค่าเพิ่ม ในระยะยาว สำหรับอุตสาหกรรม ที่จำเป็นต้องปรับโครงสร้าง เพื่อความอยู่รอด เพื่อให้สามารถผ่านพ้นมหาวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน และทำให้การส่งออกของไทย กลับมาเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘สรท.’ ปรับคาดการณ์ส่งออกเป็นติดลบ 10% ส่งหนังสือจี้ ‘นายกฯ’ แก้บาทแข็ง
- เปิด 7 แพลตฟอร์มส่งออก โอกาส เกษตรกรรุ่นใหม่ ลุยออนไลน์
- โอกาสทอง 5 สินค้าส่งออกไทย ในวิกฤต ‘โควิด – 19’