Business

เปิด 7 แพลตฟอร์มส่งออก โอกาส เกษตรกรรุ่นใหม่ ลุยออนไลน์

แพลตฟอร์มส่งออก ถือได้ว่าเป็นโอกาสใหม่ ของเกษตรกรไทยยุค 4.0 เพื่อเปิดประตูสู่ตลาดโลก ในยุคที่ อีคอมเมิร์ซ หรือการค้าออนไลน์ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

นั่นเพราะ การทำการตลาดรูปแบบเดิม อาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย จึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และช่องทางการขายเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป ด้วยการมองหา แพลตฟอร์มส่งออก สินค้าเกษตร เพื่อขยายช่องทางจำหน่าย

 แพลตฟอร์มส่งออก

สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ได้จัด “โครงการสัมมนาหลักสูตร Smart Farmer ออนไลน์สู่ตลาดโลก” เพื่อให้ความรู้และเทคนิคการขายแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ ให้สามารถจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และการกระจายสินค้าไปยังต่างประเทศได้ด้วยตัวเอง ผ่านแพลตฟอร์มชั้นนำทั้งหลายเหล่านี้

  • Thailandpostmart

แพลตฟอร์มส่งออก สัญชาติไทยรูปแบบ E-Marketplace หรือ ร้านออนไลน์ ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อเป็นช่องทางในการ กระจายสินค้าทางการเกษตร สินค้าชุมชน และสินค้า OTOP ที่สามารถลงขายสินค้าได้ฟรี ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคลหรือสหกรณ์ ก็สมัครเป็นร้านค้าบน Thailandpostmart ได้

นอกจากนี้ ยังมีบริการที่น่าสนใจ อย่างเช่น การช่วยตั้งราคาขาย เพียงแค่แจ้งต้นทุนมา ระบบจะคำนวณหาราคา ที่เหมาะในการขาย โดยกำหนดให้ได้กำไรไม่ต่ำกว่า 15% หลังหักค่าใช้จ่าย เมื่อผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้า และชำระเงินแล้ว ระบบจะส่งคำสั่งซื้อ มายังร้านค้า และทางไปรษณีย์ จะมารับของด้วยตัวเอง เพื่อจัดส่งให้ผู้บริโภคภายใน 1-2 วัน

นอกจากจะสะดวกสบายแล้ว ยังมีค่าจัดส่งที่ถูกกว่าการไปส่งเองอีกด้วย รวมถึงมีจุดเด่น จากการที่ช่องทางการจำหน่าย ที่มีอย่างหลากหลาย ทั้งรูปแบบออนไลน์ ที่เปิดให้สั่งสินค้า ผ่านเว็บไซต์ Thailandpostmart.com และแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ทั้งระบบ Android และ iOS อีกทั้ง ยังมีช่องทางออฟไลน์ที่เปิดให้วางขายผลิตภัณฑ์ ในที่ทำการไปรษณีย์ทุกสาขา ทั่วประเทศอีกด้วย

  • JatujakMall

แพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ ที่เป็นเสมือนการยกตลาด “จตุจักร” มาอยู่ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อกระจายสินค้าทั่วไทย และส่งออกไปทั่วโลก ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกด้วยบริการจัดทำข้อมูล ถ่ายภาพและวิดีโอ เพื่อโปรโมตสินค้า พร้อมบริการ Customer Service ตลอด 24 ชั่วโมง และตรวจเช็กสินค้าก่อนการจัดส่ง รวมถึงช่วยโปรโมตสินค้าให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

ขณะเดียวกัน ยังมีการเก็บ Database ที่เป็นข้อมูลของผู้บริโภค มาวิเคราะห์พฤติกรรม ในการซื้อสินค้า เพื่อนำมาใช้โปรโมตสินค้า ให้ผู้บริโภคกลับมาซื้อสินค้าซ้ำ รวมถึงหากลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ นอกจากจะลงขายสินค้าบนเว็บไซต์ของ Jatujakmall แล้ว ยังมีบริการนำสินค้าไปลงจำหน่ายบนแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้ง Amazon eBay Lazada เป็นต้น

The Hub Thailand

  • The Hub Thailand

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ของคนไทยเพื่อคนไทย ที่มีการเปิดให้จำหน่ายสินค้า ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สินค้าความงาม สินค้าแฟชั่น อาหารแปรรูป ไปจนถึงสินค้าทางการเกษตรอย่างผัก ผลไม้ เป็นต้น อีกทั้งยังมีบริการจำหน่ายสินค้าราคาส่ง ไปยังผู้ประกอบการในต่างประเทศ ที่สนใจนำเข้าสินค้าของไทยไปจำหน่ายในประเทศอื่นๆ ได้อีกด้วย

ดังนั้น The Hub Thailand จึงเป็นแพลตฟอร์ม ที่สามารถจำหน่ายสินค้าทั้งปลีกและส่งได้ในตัว สามารถเปิดร้านบน The Hub Thailand ได้ฟรี มีบริการถ่ายรูปสินค้าให้ พร้อมทำการตลาดออนไลน์ด้วยแคมเปญต่างๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภค เช่น มีคูปองส่วนลด และสร้าง Keyword หรือคำค้นหาใน Google เพื่อให้ค้นเจอสินค้าได้ง่ายมากขึ้น ไปจนถึงมีบริการขนส่งสินค้าที่รวดเร็ว

  • Shopee

แพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ สุดฮิต ที่เกษตรกรก็สามารถหยิบมาใช้ เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าได้ ด้วยจุดแข็ง ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงมีช่องทางการตลาดที่หลากหลาย ทั้งการโปรโมตแพลตฟอร์ม ในสื่อออนไลน์ และ สื่อออฟไลน์ มีการใช้พรีเซนเตอร์ ทำแคมเปญในวันพิเศษ แจกคูปองส่วนลดค่าสินค้า และมอบส่วนลดค่าจัดส่งให้กับผู้บริโภคและร้านค้าอยู่เสมอ ทำให้ไม่ต้องเหนื่อยทำการตลาดด้วยตัวเอง

Shopee ยังอำนวยความสะดวก ในการช่วยจัดการสต็อกสินค้าให้ง่ายขึ้น เพียงใส่จำนวนสินค้าลงในระบบ หากมีการจำหน่ายสินค้าออกไป ทางระบบก็จะตัดสต็อกให้ทันที นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องการชำระเงินและการขนส่ง โดยสามารถเปิดร้านจำหน่ายสินค้าได้ฟรี มีการใช้งานที่ง่าย และมีบริการให้ความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาต่างๆ อีกด้วย

  • Lazada

อีกหนึ่ง แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 6 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม เหมาะสำหรับ เกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmer) ที่ต้องการตีตลาดในแถบเอเชีย

ทั้งนี้ Lazada มีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือและให้คำปรึกษาตลอดและมีคอร์สให้ความรู้เรื่อง อีคอมเมิร์ซ ฟรี ซึ่งมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจ อย่างการให้ร้านค้าไลฟ์สดขายสินค้าได้ฟรี โดย Lazada มีแคมเปญช่วยกระตุ้นยอดขายอยู่เสมอ ทั้งการจัดโปรโมชันในวันพิเศษ การมอบส่วนลดสินค้า ให้ผู้บริโภค พร้อมมีบริการเสริม เช่น ออกแบบโลโก้ ถ่ายรูปสินค้า ทำแบนเนอร์หน้าร้าน เป็นต้น โดยร้านค้าจะไม่เสียค่าคอมมิชชัน แต่มีค่าธรรมเนียม 2% เมื่อจำหน่ายสินค้าได้ และเสียค่าจัดส่งตามน้ำหนักสินค้า และประเภทการจัดส่ง

cloudmall

  • CloudMall

แพลตฟอร์มสำหรับ Smart Farmer ที่สนใจก้าวสู่ตลาดมาร์เก็ตเพลส หรือคลังสินค้าบนโลกออนไลน์ ที่มีเว็บไซต์เป็นสื่อกลาง เพื่อจำหน่ายและส่งออกไปยังต่างประเทศ โดย Cloudmall มีบริการตั้งแต่ช่วยถ่ายรูปสินค้า เขียน คอนเทนต์ ให้ทั้ง ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ช่วยทำการตลาดด้วยการมี อินฟลูเอนเซอร์ ไลฟ์สดขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม และยังนำสินค้าไปช่วยโปรโมตโพสต์ขายลงแพลตฟอร์มชั้นนำอย่าง Amazon eBay Etsy เป็นต้น

เกษตรกรรุ่นใหม่ สามารถสมัครเพื่อเปิดร้านจำหน่ายสินค้าได้ฟรีและตั้งราคาขายได้อย่างอิสระ โดยทางแพลตฟอร์มจะบวกค่าบริการต่างๆ เพิ่มเข้าไปจากราคาที่ต้องการขาย เมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามาทาง Cloudmall จะไปรับสินค้าเพื่อจัดส่งให้ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ครบวงจรเลยทีเดียว

  • eBay

แพลตฟอร์มขายปลีกออนไลน์ยักษ์ใหญ่ ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกอย่าง eBay ขึ้นชื่อเรื่องมีสินค้าอย่างหลากหลาย ไม่เว้นแม้กระทั่ง สินค้าแปรรูปทางการเกษตร เช่น ชา สมุนไพร เมล็ดกาแฟ เป็นต้น แต่ไม่เปิดให้จำหน่ายสินค้าสด ที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป อย่าง ผักหรือผลไม้สด

การเปิดร้านใน eBay จะไม่เสียค่าธรรมเนียม สำหรับสินค้าใน 50 ชิ้นแรกที่จำหน่ายได้ต่อเดือน หากจำหน่ายสินค้าได้มากกว่า 50 ชิ้นจะเสียค่าธรรมเนียม 10% ซึ่งมีจุดเด่นที่ สามารถกำหนดราคาขายแบบคงที่ หรือเปิดให้ประมูลราคาสินค้าได้ โดยเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้น

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ eBay ถึงมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ การทำการตลาดด้วย Keyword หรือคำที่ใช้ในการค้นหาสินค้าผ่าน Search Engine ใน Google และมีการจัดประเภทของสินค้าอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้บริโภคค้นหาสินค้าเจอได้ง่ายมากขึ้น และเพิ่มน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภคด้วยฟีเจอร์ที่เปิดให้ Feedback ความพึงพอใจต่อร้านค้า ยิ่งถ้ามี Feedback ในทางที่ดีก็ย่อมทำให้ร้านของคุณดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo