ไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก แรงงานจำนวนมากต้องตกงานอย่างกะทันหัน กำลังในการจับจ่ายใช้สอยน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ภาครัฐจึงมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนหลายด้าน รวมถึงการ ตรึงค่าโดยสาร และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
รายละเอียดเป็นอย่างไร เช็คได้เลย!
“MRT สีน้ำเงิน” ตรึงค่าโดยสาร ถึงสิ้นปี
รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ที่วิ่งเป็นวงกลมและเป็นหนึ่งในเส้นทางหลักของคนกรุงเทพฯ จะถูก ตรึงค่าโดยสาร ไว้ถึงสิ้นปี 2563
โดยเมื่อวานนี้ (30 มิ.ย. 63) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบ การคงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ในอัตราปัจจุบัน คือ เริ่มต้น 16 บาท สูงสุด 42 บาท ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้กำหนดให้มีการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารใหม่ทุกๆ ระยะเวลา 24 เดือน หรือ 2 ปี โดยใช้วิธีคำนวณบนพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้จะครบกำหนดการบังคับใช้ตามสัญญาวันพรุ่งนี้ (2 ก.ค. 63)
เมื่อสิ้นสุดมาตรการ ตรึงค่าโดยสาร ก็จะเริ่มใช้อัตราค่าโดยสารใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป คือ เริ่มต้น 17 บาท สูงสุด 42 บาท
“รถไฟฟ้าสีม่วง” ขยาย 20 บาทตลอดสาย
รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ขยายมาตรการลดค่าโดยสารเหลือ 20 บาทตลอดสายออกไปอีก
คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ออกไปอีก 3 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา
มติดังกล่าวส่งผลให้ ผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ยังคงได้รับสิทธิ์ตามโปรโมชั่นค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 14 บาท และจ่ายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย จากอัตราปกติคือ จ่ายสูงสุด 42 บาท ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563
สำหรับผู้ที่เดินทางเชื่อมต่อ 2 สาย ระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน จะจ่ายค่าโดยสารร่วมสูงสุดเพียง 48 บาท เดินทางได้ 53 สถานี จากอัตราค่าโดยสารร่วมปกติคือ จ่ายสูงสุด 70 บาท ตลอดการขยายระยะเวลาโปรโมชั่นดังกล่าวด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ผู้โดยสารที่ได้รับสิทธิ์ส่วนลดพิเศษ สามารถใช้สิทธิ์ดังกล่าวเพิ่มเติมจากโปรโมชั่นได้ ได้แก่
- ส่วนลดค่าโดยสาร 50% สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 14 ปี ที่มีความสูงระหว่าง 91-120 เซนติเมตร และผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
- ส่วนลดค่าโดยสาร 10% สำหรับนักเรียน/นักศึกษาที่มีอายุไม่เกิน 23 ปี
มาตรการ ยกเว้นค่าผ่านทาง
สำหรับทางพิเศษ (ทางด่วน) นั้น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กพท.) และ BEM ได้ร่วมกันปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานโครงการทางพิเศษศรีรัช (ระบบทางด่วนขั้นที่ 2) รวมถึงส่วน D และสัญญาโครงการทางด่วนอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) ฉบับแก้ไขใหม่
ด้วยการลดค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ระบบทางด่วนขั้นที่ 1) แก่รถยนต์ที่มาจากทางด่วนฉลองรัช เพื่อเข้าสู่ทางด่วนขั้นที่ 1 ที่ด่านเก็บค่าผ่านทางด่วนอาจณรงค์ 1 ทิศทางบางนา ในอัตรา 25 บาทต่อเที่ยว สำหรับรถทุกประเภท เริ่มตั้งแต่วันนี้ (1 ก.ค. 63) ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
มาตรการดังกล่าวส่งผลให้รถแต่ละประเภทที่ใช้บริการในเส้นทางดังกล่าว มีอัตราค่าผ่านทางลดลง ดังนี้
- รถ 4 ล้อ อัตราค่าผ่านทางด่วนปกติ 50 บาท ปรับลดเหลือ 25 บาท
- รถ 6 – 10 ล้อ อัตราค่าผ่านทางด่วนปกติ 75 บาท ปรับลดเหลือ 50 บาท
- รถมากกว่า 10 ล้อ อัตราค่าผ่านทางพิเศษปกติ 110 บาท ปรับลดเหลือ 85 บาท
นอกจากนั้น จะมีการ ยกเว้นค่าผ่านทาง 3 สาย ได้แก่ ทางด่วนเฉลิมมหานคร, ศรีรัช และอุดรรัถยา ทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์ด้วย
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘รถไฟฟ้าสายสีทอง’ ขบวนแรกถึงไทย พร้อมเปิดวิ่งเดือน ต.ค. ค่าโดยสาร 15 บาท
- วันนี้ยกเว้น ‘ค่าทางด่วน’ เนื่องในวันหยุดวิสาขบูชา
- ด่วน! ‘กพท.’ ออกประกาศคลายล็อกน่านฟ้า เปิดทาง 11 กลุ่มเดินทางเข้าไทย