Business

ส่อง ‘โลกหลังโควิด-19’ เปิด 9 เทรนด์ผู้บริโภค พร้อมปรับ กลับสู่ Old Normal

โลกหลังโควิด-19 เอ็นไวโร เผย 9 เทรนด์ผู้บริโภค หลังโควิด-19 ดัน “New Normal” แต่หลังโควิดคลี่คลาย ผู้บริโภคพร้อมกลับ สู่ “Old Normal”

สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโร ประเทศไทย จำกัด บริษัทวิจัยยักษ์ใหญ่ระดับโลก ในเครือบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมผู้บริโภควิถีใหม่ หรือ New Normal แต่หลังจากโควิด-19 คลี่คลาย หรือ โลกหลังโควิด-19 คาดว่า พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงอีกเช่นกัน

โลกหลังโควิด-19

โลกหลังโควิด-19 ทำให้บางพฤติกรรมผู้บริโภคกลับมาสู่สภาวะปกติเช่นเดิมแล้ว โดยแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น แต่ขณะที่บางพฤติกรรม ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จนทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัว เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้น

เอ็นไวโร ได้ทำการสำรวจกับกลุ่มผู้บริโภคทั่วประเทศ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักการตลาด เจ้าของธุรกิจ ผู้บริโภค นักจัดกิจกรรมอีเวนต์ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ โดยสรุปผลวิจัย 9 เทรนด์ผู้บริโภค หลังวิกฤตโควิด-19 ที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจากนี้

ผลวิจัย 9 เทรนด์ผู้บริโภค

1. เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนประสบการณ์

ผลสำรวจพบว่า มีผู้บริโภคเพียง 15% ที่ได้เข้าร่วมงานอีเวนต์ออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Y ส่วน 85% ที่ไม่เข้าร่วม เพราะไม่เชื่อว่าจะได้รับประสบการณ์ที่ทดแทนอีเวนต์ปกติ หรือออนกราวด์ (onground) ได้ โดยผู้บริโภคกว่า 93% คิดว่าอีเวนต์ออนไลน์ ทดแทนอีเวนต์ onground ไม่ได้

2. ออนไลน์มีศักยภาพ แต่ก็ไม่ใช่แค่ยกกิจกรรมอีเวนต์มาทำบน ออนไลน์

ทั้งนี้ พบว่า 12% ของผู้ที่เข้าร่วมอีเวนต์ออนไลน์ กล่าวว่า ชอบอีเวนต์ออนไลน์ โดย 88% ไม่ชอบ ซึ่งทำให้เกิดประเด็นที่น่าสนใจว่า ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการ อีเวนต์ออนกราวด์ มาเป็น ออนไลน์ กิจกรรมอีเวนต์ไม่เหมือนการช้อปปิ้งที่ถูกดิสรัป ด้วยความสะดวกจากออนไลน์ เพราะ “ประสบการณ์” เป็นสิ่งที่ทดแทนไม่ได้

ดังนั้น จึงไม่ได้แปลว่า คอนเสิร์ตออนกราวด์ จะถูกทดแทนด้วย คอนเสิร์ตออนไลน์ แต่อาจจะถูกทดแทนด้วยกิจกรรมรูปแบบอื่นไปเลย เพราะโควิดได้ผันผู้บริโภคไปเสพความบันเทิงแบบใหม่ เช่น เกมส์ E-Sport

30JUN new normal

ในอนาคตผู้บริโภคอาจไม่ออกไปคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะออนไลน์ หรือ ออนกราวด์ แต่กลับใช้เวลาบนโลกออนไลน์ แบบ Second Life ดังนั้น ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ให้เป็น ความบันเทิงออนไลน์, กิจกรรมออนไลน์ เพื่อสร้างประสบการณ์ Virtual ในรูปแบบใหม่ไปเลย ไม่ใช่ทดแทน เพื่อสร้างประสบการณ์แบบ ออนกราวด์ เพราะในเรื่องของการรับรู้ผ่านสัมผัสทั้ง 5 ทดแทนกันไม่ได้

3. 70% ยังกังวลระลอก 2 จึงยังไม่พร้อมเข้ากิจกรรมอีเวนต์ทันที ขอรออย่างน้อย 6 เดือน

มีเพียงการท่องเที่ยวในประเทศ และการทานอาหารนอกบ้าน ที่ผู้บริโภคพร้อมทำกิจกรรม และกลับสู่ old normal ทันที รองลงมาเป็น งานแฟร์ต่างๆ ส่วนกิจกรรมอื่น เช่น การเข้าร่วมชมกีฬา การชมคอนเสิร์ต การไปผับ บาร์ ใช้เวลาอย่างต่ำ 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับการกระตุ้นกิจกรรมของธุรกิจอีเวนต์ ที่ใช้เวลานานสุดคือ การท่องเที่ยวต่างประเทศ

แนวโน้มดังกล่าว จึงเป็นโอกาสอันดี สำหรับการโปรโมตการท่องเที่ยวในประเทศ ส่วนกิจกรรมอีเวนต์ ควรซอยย่อยอีเวนต์ในช่วงแรก เช่นจัดถี่ขึ้น ในจำนวนคนที่น้อยลงต่อรอบ หรือ สร้างความบันเทิงออนไลน์ กิจกรรมออนไลน์ ในรูปแบบใหม่ไว้รองรับ

4. จะทำการค้าขาย หรือ กิจกรรมอีเวนต์ ให้พุ่งเป้าไปที่ Gen Z, Gen Y

กลุ่มคน Gen Z, Gen Y เป็นกลุ่มที่กังวลโควิดระลอก 2 น้อยกว่ากลุ่มอื่น และพร้อมออกมาโลดแล่น ถึงแม้มีสัดส่วนในการออมมากขึ้น ใช้ของฟุ่มเฟือยน้อยลง แต่เป็นกลุ่มที่ไม่ยอมลด ค่าใช้จ่าย ในการกินเที่ยว เพราะเป็น เจเนอเรชั่นที่ต้องการใช้ชีวิต มากกว่าการเก็บออม

กลุ่ม Gen Z, Gen Y เป็นกลุ่มที่มีความยืดหยุ่น และปรับตัวเร็ว มีการเรียนรู้เสริมทักษะตัวเอง เพื่อให้มีความสามารถหลายด้าน มีแนวโน้มหารายได้ทางออนไลน์มากขึ้น และพร้อมรับความเสี่ยงมากกว่ากลุ่ม Gen X, Babyboomer ที่ไม่ต้องการความเสี่ยง จึงทั้งเก็บออม และลดค่าใช้จ่าย

5. ขาย Gen X Babyboomer ให้เน้นเรื่องความปลอดภัยและมั่นคง

กลุ่มนี้มีความกังวล และไม่ต้องการความเสี่ยง มีสัดส่วนการออมเพื่อสุขภาพ และประกันชีวิตมากขึ้น ดังนั้นการขายเรื่อง ความมั่นคง ความปลอดภัย ไม่ว่าจะประกัน ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภคที่ช่วยฆ่าเชื้อได้หมด ถ้าทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ รู้สึกว่าจำเป็นต้องใช้ เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย ของตนเองละครอบครัว

11 2

6. ต้องทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกผิดที่จะใช้เงิน

ผลวิจัยยังพบว่า 86% ของผู้บริโภคจะซื้อของตามความจำเป็น และประโยชน์การใช้งานมากขึ้น สินค้าฟุ่มเฟือย จึงเป็นสินค้าที่โดนผลกระทบอันดับต้นๆ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคอยู่ในช่วงรู้สึกผิดที่จะใช้จ่าย ดังนั้น ต้องทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกผิดที่ใช้เงิน

การทำโปรโมชั่น ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกประหยัดจากการซื้อสินค้า ทำให้รู้สึกดีจากการได้ประหยัดแทน ที่จะรู้สึกผิดที่ใช้เงิน นักการตลาดควรพิจารณางบการตลาดจากการสร้างดีมานด์ มาทำ กิจกรรมส่งเสริมการขาย (Below the Line) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อมากที่สุด และที่สำคัญคือ “คิดเรื่องกำเงิน มากกว่า กำไร”

7. อย่ามัวแต่ โฟกัส ออนไลน์ ให้จับตามอง ชุมชนมาร์เก็ตเพลส และ ทีวีไดเร็ค

คนเดินห้างน้อยลง เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อมากขึ้น จากเดิมก่อนโควิดซื้อหลักๆ อยู่ 5 ช่องทาง เพิ่มมาเป็น 7 ช่องทาง หลังโควิดโดย ชุมชนมาร์เก็ตเพลส (Community Marketplace)  และ ทีวีไดเร็ค เป็นช่องทางใหม่มาแรง เพราะ มาร์เก็ตเพลส สร้างความรู้สึกปลอดภัย มั่นคง ในการซื้อสินค้า เนื่องจากผ่านการคัดกรองมาแล้ว

ขณะที่ทีวีไดเร็ค ทำให้ผู้บริโภครู้สึกประหยัด จากส่วนลดมากมาย จึงทำให้ผู้บริโภคซื้อด้วยความไม่รู้สึกผิด ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เกต ตลาด เป็นช่องทางที่ได้รับผลกระทบ

จากแนวโน้มที่คนจะมาเดินน้อยลง ควรจัดกิจกรรมงานแฟร์ ที่มีสินค้าดี ราคาดี หรือร่วมกับทุกๆ ร้านค้า ในห้าง พร้อมใจกันลดราคา เพื่อกระตุ้นให้คนมาเดินมากขึ้น

fig 14 10 2019 06 16 29

8. ทัศนคติในการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง และ ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น ขณะที่มีความอยากรวย และท่องเที่ยวรอบโลกน้อยลง รวมทั้ง มีแนวโน้มที่จะทำอาชีพเสริม และลงทุนมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง

กลุ่ม Gen X, Babyboomer เริ่มหันมาพึ่งพาตัวเองโดยทำกับข้าวมากขึ้น ปลูกผักสวนครัวมากขึ้น และทำขายในชุมชน มาร์เก็ตเพลส มากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อร้านอาหารแบบมีหน้าร้าน และการมาเดินห้างที่ลดน้อยลง

9. Master Class ไม่ได้ Boom อย่างที่คาด

มีเพียง 16% ที่ซื้อคลาส โดยกลุ่ม Gen Y, Gen X เป็นกลุ่มลูกค้าหลัก สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคไม่รู้สึกคุ้มค่า หรือ ไม่รู้สึกเติมเต็มที่จะต้องจ่ายการเรียนออนไลน์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo