Business

ฟ้าผ่าอีกรอบ! ‘นกสกู๊ต’ ลดขนาดธุรกิจ คืนเครื่อง 3 ลำ-ปลดพนักงานล็อต 2

ฟ้าผ่าอีกรอบ! “นกสกู๊ต” ทนพิษไวรัสโควิด-19 ไม่ไหว ตัดสินใจลดขนาดสายการบิน คืนเครื่อง 3 ลำ-ปลดพนักงานล็อต 2 หลังจากต้นปีเพิ่งปลดไป 47 คน

วันนี้ (24 มิ.ย. 63) เพจเฟซบุ๊ก Outsider’s Aviation ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบิน ได้โพสต์ข้อความว่า วันนี้สายการบินนกสกู๊ต ได้เรียกพนักงานทั้งหมดมาแจ้งข่าวเรื่องการลดขนาดองค์กร ปลดพนักงานบางส่วน โดยพนักงานทุกคนจะได้รับค่าชดเชยที่กำหนดไว้ รวมถึงจะมีการคืนเครื่องบินบางส่วนให้กับสายการบินสกู๊ตและสิงคโปร์แอร์ไลน์ด้วย

นกสกู๊ต

“นกสกู๊ต” ชี้แจง

ทั้งนี้ สายการบินนกสกู๊ต ได้ส่งข้อมูลเพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า

“ตามที่ได้มีการประเมินการดำเนินธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา สายการบิน นกสกู๊ต ได้ตัดสินใจดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจการบินอย่างหนัก

ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีสัญญาณอันดีเกี่ยวกับการแพร่ระบาดและมีบางประเทศที่เริ่มผ่อนปรนการเดินทางแล้ว แต่การเดินทางระหว่างประเทศยังคงถูกจำกัดและอาจมีผลกระทบไปอีก 2 ถึง 3 ปี ทำให้การเดินทางไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปเท่าปี 2562

จากภาพรวมของตลาดอุตสาหกรรมการบินที่หดตัวลง สายการบินนกสกู๊ตจึงปรับลดจำนวนเครื่องบินจำนวน 3 ลำ ภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งส่งผลให้ทางบริษัทจำเป็นต้องตัดสินใจลดจำนวนพนักงานด้วยเช่นกัน นี่เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากและทางบริษัทเข้าใจดีถึงผลกระทบต่อพนักงาน โดยสายการบินนกสกู๊ตจะชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเหมาะสม

ทางบริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญของการหางานใหม่ในช่วงเวลานี้ และจะพยายามช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบให้มากที่สุดเท่าที่สายการบินนกสกู๊ตสามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม สายการบินนกสกู๊ตยังคงคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารและพนักงานทุกคนเป็นสำคัญ”

นกสกู๊ต

เพิ่งกู้ “จุฬางกูร” 200 ล้าน

สำหรับ สายการบินนกสกู๊ต ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 จากการร่วมมือทางธุรกิจระหว่างสายการบินสกู๊ต ประเทศสิงค์โปร์ และสายการบิน นกแอร์ ประเทศไทย โดยเป็นสายการบินราคาประหยัด (Low-cost Airline) ที่ให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศระยะกลางถึงระยะไกล เช่น จีน อินเดีย ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น

เมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา สายการบินนกสกู๊ต ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของนกแอร์ เพิ่งกู้เงินจากนางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของสายการบินนกแอร์ ในวงเงิน 200 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานทั่วไป โดยจะออกตั๋วสัญญาใช้เงินแบบไม่มีหลักประกัน ในอัตราดอกเบี้ย 6.30% ต่อปี เป็นระยะเวลา 12 เดือน หรือคิดเป็นดอกเบี้ยรวม 12.6 ล้านบาท

โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) สายการบินนกแอร์เห็นสมควรให้นกสกู๊ต กู้ยืมเงินจากนางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ในกรณีดังกล่าว เนื่องจากการรับความช่วยเหลือทางการเงินในครั้งนี้ นกสกู๊ตได้รับอัตราดอกเบี้ยที่เทียบเคียงได้กับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของสถาบันการเงินในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 6.9236% ต่อปี และมีความยืดหยุ่นในการบริหารสภาพคล่องทางการเงินและการเบิกใช้เงินตามแผนการใช้เงิน

นกสกู๊ต

เดือน ก.พ. ปลดไปแล้ว 47 คน

ต่อมาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 สายการบินนกสกู๊ตได้ปลดพนักงานรวม 47 คน โดยออกแถลงการณ์ชี้แจง “การปรับลดขนาดธุรกิจของสายการบินนกสกู๊ตในปี 2563” ต่อสื่อมวลชนว่า จากการประเมินทางธุรกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 สายการบินนกสกู๊ตได้ตัดสินใจดำเนินการปรับลดขนาดธุรกิจในปี 2563 ซึ่งการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ประการใด

ขณะเดียวกัน เป็นเรื่องน่าเสียดายที่การปรับลดขนาดธุรกิจในครั้งนี้ ยังรวมไปถึงการเลิกจ้างพนักงานจำนวน 47 ตำแหน่ง ประกอบด้วยนักบิน 11 ตำแหน่ง และพนักงานต้อนรับบนเครี่องบิน 36 ตำแหน่ง ซึ่งได้ดำเนินการอย่างรอบคอบและเป็นไปตามกรอบของกฎหมายแรงงาน

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในวงกว้าง โดยเฉพาะธุรกิจการบริการและธุรกิจการบิน สายการบินนกสกู๊ตได้ใช้มาตรการระยะสั้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์นี้จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดีในเร็ววัน”

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สายการบิน นกสกู๊ต แจ้ง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท. หรือ CAAT) ขอหยุดให้บริการระหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2563

S 43860040

ขาดทุนหนัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างปี 2559-2561 บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด มีผลประกอบการขาดทุน 3 ปีติดต่อกัน โดยรายละเอียดเป็นดังนี้

  • ปี 2559 รายได้รวม 3,910 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 612 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้รวม 5,650 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 47 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้รวม 5,920 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,528 ล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo