Business

ปตท. ลงนาม กฟผ. เซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซ 10 ปี มูลค่า 3.4 แสนล้าน

เซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซ 10 ปี มูลค่า 3.4 แสนล้าน ปตท.-กฟผ.ลงนามสัญญา ครอบคลุม จากโรงไฟฟ้าบางปะกง พระนครใต้ พระนครเหนือ วังน้อย และ จะนะ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. และ นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกันเปิดเผยว่า ปตท. และ กฟผ. ได้ร่วมลงนาม เซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซ  10 ปี ปริมาณซื้อขายก๊าซธรรมชาติ สูงสุด 736 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มูลค่าสัญญา 3.4 แสนล้านบาท

เซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซ

สำหรับการลงนามดังกล่าว เป็นสัญญาระยะยาวฉบับใหม่ (GLOBAL DCQ) ตั้งแต่ เดือนกรกฏาคม 2563 – กรกฏาคม 2573 ครอบคลุมโรงไฟฟ้าบางปะกง, พระนครใต้, พระนครเหนือ, วังน้อย และ จะนะ หลังจากสัญญาระยะยาวฉบับเดิม ที่ซื้อขายก๊าซฯกันมาตั้งแต่ปี 24 สิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 2558 จากนั้นได้มีการขยายอายุสัญญาแบบปีต่อปีมาจนถึงปัจจุบัน โดยสัญญาล่าสุด หมดอายุเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า การ เซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซ ระยะยาวดังกล่าว จะเป็นการเสริมความมั่นคงของประเทศ ที่จะเกี่ยวเนื่องกับการผลิตก๊าซในอ่าวไทย ขณที่ กระทรวงฯ  ได้ส่งเสริมการแข่งขันการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) เพื่อให้เกิดการนำเข้าในราคาต่ำที่สุด และทำให้เกิดผลดีต่อค่าไฟฟ้าของภาคประชาชน

อย่างไรก็ตาม แอลเอ็นจี ต้องดูเรื่องความมั่นคงควบคู่กันไปด้วย ซึ่งล่าสุดประเทศไทย มีผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าแอลเอ็นจีแล้ว 5 ราย ได้แก่ ปตท., กฟผ., กัลฟ์, หินกองเพาเวอร์ และ กลุ่มบีกริม

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บีกริมพร้อมนำเข้าแอลเอ็นจีในอนาคต ซึ่งมีผู้พร้อมจำหน่ายในราคาต่ำหลายราย แต่หาก ปตท.ขายก๊าซฯ ได้ในราคาต่ำมาก บีกริมก็พร้อมจะซื้อจาก ปตท.โดยคงต้องดูราคาที่เหมาะสม

“หากได้ราคาก๊าซฯที่ต่ำ บีกริมก็จะขายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมในราคาต่ำ ซึ่งก็จะทำให้ประเทศสามารถแข่งขันได้” นางปรียนาถ กล่าว

กฟผ.

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานบอร์ด กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงฯ ได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับ โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ให้เหมาะสม หลังจากมีผู้เสนอปรับโครงสร้างราคา เช่น ราคาอ้างอิงน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน โดยต้องพิจารณาว่า เหมาะสมหรือไม่

ทั้งนี้ ได้ให้ทุกฝ่ายไปประเมินผลดี ผลเสีย ว่าควรจะปรับ โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ อย่างไรให้เหมาะสมแล้วนำมาเสนอเพื่อพิจารณาดำเนินการในการประชุมครั้งต่อไป

ส่วนกรณีที่ บอร์ด กฟผ. ได้เห็นชอบแผนการจัดหา แอลเอ็นจี ของ กฟผ. ระหว่างปี 2563 – 2565 โดยจะนำเข้าแอลเอ็นจี ในปริมาณ ปีละ 0.6 ล้านตัน , 1.9 ล้านตัน และ1.5 ล้านตัน ตามลำดับนั้น อยู่ระหว่างการเสนอขอความเห็นชอบจาก กระทรวงพลังงาน

สำหรับการนำเข้าแอลเอ็นจีของ กฟผ. เป็นไปตามการรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และบริหารจัดการต้นทุน ค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีประสิทธิภาพ

การนำเข้าแอลเอ็นจี ของ กฟผ. ได้กำหนดเป็น 2 แนวทาง คือ การจัดซื้อระยะยาว โดยจัดซื้อจาก ปตท. ภายใต้สัญญาหลักซื้อขายก๊าซธรรมชาติ Global DCQ และการจัดซื้อระยะสั้น โดยจัดหา แอลเอ็นจีเพิ่มเติม ในส่วนที่เกินจากปริมาณตามข้อผูกพันในสัญญากับ ปตท.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo