Business

เปิดเทอม 2563 ผู้ปกครองหวั่นสภาพคล่องเงินในกระเป๋า เหตุโควิดทำรายได้ลด!

เปิดเทอม 2563 ผู้ปกครองหวั่นสภาพคล่องเงินในกระเป๋า เหตุโควิดทำรายได้ลด เล็งปรับลดค่าใช้จ่ายเรื่องเครื่องแต่งกาย – อุปกรณ์การเรียน – เรียนพิเศษ

เปิดเทอม 2563 บรรยากาศการใช้จ่ายจะแตกต่างไปจากปีที่ผ่านๆ มา เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการมีงานทำและรายได้ของผู้ปกครองบางกลุ่มจากการที่ภาคธุรกิจต้องปิดตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทำการสำรวจความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษา และผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 10 พฤษภาคม 2563 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 100% มองว่า ตนเองได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่มีมิติที่ต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่รายได้ลดลง เนื่องจากถูกลดเวลาการทำงาน หรือ ถูกปรับลดเงินค่าจ้าง

ขณะที่ผู้ตอบที่เป็นเจ้าของธุรกิจ บอกว่ามียอดขายลดลง นอกจากนี้มีบางกลุ่มไม่มีงานทำเนื่องจากกิจการปิดตัวลงชั่วคราว รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและป้องกันโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น

เปิดเทอม 2563

ทั้งนี้ ผู้ปกครองกว่า 88.9% มีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงิน ที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในช่วงเปิดเทอมใหญ่ ปี 2563 นี้ และต้องปรับตัว ด้วยการใช้แหล่งเงินจากหลายๆ ที่ นอกจากการใช้เงินออม อาทิ สินเชื่อจากสถาบันการเงิน อย่างบัตรเครดิต หรือสินเชื่อเงินสด โรงรับจำนำ ยืมญาติพี่น้อง หรือเพื่อน นอกจากนี้ บางคนได้ขอผ่อนผันการชำระค่าเรียน หรือผ่อนชำระค่าเทอมกับทางโรงเรียน ซึ่งมีสถานศึกษาบางแห่งอนุญาตให้ทำได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายในด้านการศึกษา ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 28,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย มาจากค่าธรรมเนียมการศึกษา ซึ่งเป็นผลจากจำนวนนักเรียนใหม่ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่เป็นอัตราการเพิ่มที่ชะลอตัวจากปีก่อน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือน ทำให้โรงเรียนเอกชนหลายแห่ง ไม่ได้ปรับขึ้นค่าเรียน และบางแห่งได้ปรับลดค่าธรรมเนียมการศึกษา เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ปรับลดค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในบางกลุ่ม ซึ่งจะมีผลต่อผู้ประกอบการธุรกิจ ที่คงจะต้องเตรียมแผนการตลาดรองรับกับรายได้ที่จะลดลง โดยกลุ่มที่ปรับลดค่าใช้จ่าย ได้แก่

  • กลุ่มสินค้าเพื่อการศึกษา เช่น ชุดนักเรียน รองเท้า อุปกรณ์การเรียน ซึ่งผู้ปกครองจะลดจำนวนที่จะซื้อ หรือซื้อเท่าที่จำเป็น
  • กลุ่มค่าใช้จ่ายการเรียนกวดวิชา/เสริมทักษะ เนื่องจากหลายสาเหตุ อาทิ ผู้ปกครองที่ไม่มีปัญหาเรื่องรายได้ แต่ชะลอการส่งบุตรหลานไปเรียนกวดวิชา หรือเสริมทักษะ เพราะยังกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19
  • ส่วนผู้ปกครองที่มีปัญหาเรื่องรายได้ จะปรับลดค่าใช้จ่าย ในส่วนการเรียนเสริมทักษะ ขณะที่ในส่วนของกวดวิชาจะเลือกเรียนเฉพาะวิชาที่สำคัญ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศจะดีขึ้น แต่จากผลสำรวจ พบว่า ผู้ปกครองกว่า 86% ยังมีความกังวล ต่อสถานการณ์การระบาดของโควิค-19 หากบุตรหลานกลับไปโรงเรียน ขณะที่ ผู้ปกครองคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 14% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ไม่กังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 หากบุตรหลานกลับไปโรงเรียน

นักเรียน

โดยเมื่อมีการเปิดเทอมแล้วนั้น ทางผู้ปกครอง อยากเห็นสถาบันการศึกษา มีมาตรการในการป้องกันเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง อาทิ การคัดกรอง/ตรวจวัดไข้เด็กก่อนเข้าเรียน มีจุดให้บริการเจลล้างมือ การให้นักเรียนใส่หน้ากากอนามัย การบริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลางของโรงเรียน ไม่ให้มีความหนาแน่น การจัดระบบภายในห้องเรียน ให้มีระยะห่างระหว่างกัน การทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อสม่ำเสมอ ทั้งในห้องเรียน บริเวณรอบๆ โรงเรียน และอุปกรณ์การเรียนการสอน การปรับ/ลดกิจกรรมกีฬาที่มีการสัมผัสใกล้ชิด และการปรับตารางเรียน อาจจะมีการสลับเวลาเรียนระหว่างชั้นเรียน เพื่อลดความแออัดในห้องเรียน/โรงเรียน เป็นต้น

ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการศึกษากับการปรับตัวภายใต้กำลังซื้อที่จำกัดของผู้ปกครอง และโจทย์การทำธุรกิจภายใต้มาตรฐานวิถีการดำเนินธุรกิจใหม่ (New Normal)

จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นได้ว่า ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาคงต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทาย ทั้งการดำเนินธุรกิจภายใต้กำลังซื้อที่จำกัดของผู้ปกครอง ผู้ปกครองบางกลุ่มอาจจะซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาในจำนวนลดลงหรือซื้อเฉพาะที่จำเป็น และโจทย์การทำธุรกิจภายใต้มาตรฐานวิถีการดำเนินธุรกิจใหม่ (New Normal) เพื่อดูแลและควบคุมไม่ให้โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นที่ต้องปรับวิธีการดำเนินธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ

  • ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าเพื่อการศึกษาอย่างเสื้อนักเรียน/รองเท้า อุปกรณ์การเรียน ทำตลาดสร้างการรับรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้ประกอบการร้านค้า อาจจะใช้กลยุทธ์ด้านราคา โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ ในการลดราคาสินค้าแต่ปรับสต็อกสินค้าให้มีความหลากหลายของแบรนด์ ที่มีระดับราคาต่างกันเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละกลุ่ม การจัดสินค้าเป็นแพคเกจในราคาพิเศษ การทำตลาดสร้างการรับรู้ต่อเนื่อง ไม่เฉพาะแต่ช่วงใกล้เปิดเทอมเท่านั้น

นอกจากนี้ แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่ผู้ประกอบการร้านค้า ยังคงต้องใช้ช่องทางออนไลน์ในการขายสินค้าอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ โดยอาจเพิ่มคลิปวิดีโอของสินค้า หรือการใช้การออกอากาศสด ผ่านช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อให้ผู้ปกครอง ได้เห็นสินค้าเสมือนจริง และขนาดของสินค้า อย่าง เครื่องแบบนักเรียน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo