Business

อย่าตกกระแส ‘Virtual Tours’ เครื่องมือดึงลูกค้ากลับมาเที่ยว หลังโควิด

Virtual Tours หรือเทคโนโลยีท่องเที่ยวเสมือนจริง ได้ถูกพัฒนาขึ้น โดยจำลองสถานที่ หรือแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อให้คนได้เข้าไปท่องโลกออนไลน์

ทั้งนี้ แหล่งท่องเที่ยวที่ทำ Virtual Tours ส่วนใหญ่ จะเป็น แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์ หอศิลปะ ฯลฯ ด้วยภาพสามมิติ 360 องศา พร้อมองค์ประกอบด้านข้อมูล และสื่อมัลติมีเดีย อย่างเหมาะสม เพื่อกระตุ้นความสนใจ และทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกเสมือนได้ไปเยือนยังสถานที่จริง ผ่านการรับชมหรือท่องเที่ยวด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และ ส่วนใหญ่ไม่มีค่าใช้จ่าย

Virtual Tours ท่องเที่ยวเสมือนจริง

นอกจากนี้ เทคโนโลยีการท่องเที่ยวเสมือนจริง ยังเกิดขึ้น จากการที่ห่วงโซ่อุปทาน ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกและไทย ต่างได้รับผลกระทบอย่างสาหัสจาก โควิด -19 เพราะหลายประเทศทั่วโลก ต่างต้องใช้มาตรการ ล็อกดาวน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

ขณะที่ประชาชน ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด คือ ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวตามปกติได้ และทำได้เพียง โพสต์ภาพการท่องเที่ยวที่ผ่านมา วนไปในโลกโซเชียล

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก ซึ่งรวมถึงไทย จะต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีกว่าจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อน โควิด – 19 ในปี 2562 ในแง่ของจำนวนและรายได้การท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ผู้ผลิตชิ้นงาน เทคโนโลยีการท่องเที่ยวเสมือนจริง มุ่งหวังการสร้างการจดจำ และคาดหวังว่า นักท่องเที่ยวจะอยากเดินทางมาสัมผัสกับสถานที่จริงในภายหลัง เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย

ดังนั้น เทคโนโลยีการท่องเที่ยวเสมือนจริง จึงเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีด้านการตลาด ที่ถูกนำมาใช้กระตุ้นความต้องการด้านการท่องเที่ยวในอนาคต (Future Demand) รวมถึงการสร้างการรับรู้ สร้างแบรนด์ ในช่วงที่ประชาชนมีข้อจำกัดด้านการเดินทาง เช่นในเวลานี้

free virtual tour

ขณะเดียวกัน หากความเชื่อมั่นต่อการเดินทางของผู้คนฟื้นตัวขึ้น และกลับมาเดินทางได้ปกติแล้ว เทคโนโลยีการท่องเที่ยวเสมือนจริง ก็สามารถปรับให้สอดคล้องกับ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ๆ ได้ อาทิ กลุ่มนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม กลุ่มผู้ป่วย ที่ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้สะดวกนัก ซึ่งประชากรกลุ่มเหล่านี้ในแต่ละประเทศ ก็มีจำนวนอยู่ไม่น้อย

นอกจากนี้ เทคโนโลยีเสมือนจริงนี้ ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การจัดอีเวนท์ นิทรรศการ การแข่งขันกีฬา สื่อการเรียนรู้ด้านการศึกษา หรือแม้แต่การออกแบบงานก่อสร้าง เป็นต้น

แม้ว่า เทคโนโลยีการท่องเที่ยวเสมือนจริง จะไม่ได้ช่วยในการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในทันที แต่นับเป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดเพื่อสร้าง Engagement และประสบการณ์รูปแบบใหม่กับนักท่องเที่ยว

Virtual Tours เที่ยวออนไลน์

เมื่อประกอบกับโปรโมชั่น การส่งเสริมการตลาด หรือ มาตรการกระตุ้นอื่น ๆ ของภาครัฐและเอกชน ก็อาจจะทำให้มีโอกาสสร้างรายได้กลับมาในอนาคต

ความท้าทายสำคัญ ของเทคโนโลยีการท่องเที่ยวเสมือนจริง ยังอยู่ที่การออกแบบให้เทคนิคต่าง ๆ ผสมผสานกันอย่างลงตัว และสามารถสร้างประสบการณ์เสมือนจริง ที่นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายรู้สึกประทับใจให้ได้มากที่สุด ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ หรือทักษะเฉพาะเจาะจง ในการสร้างสรรค์

ส่งผลให้ในปัจจุบัน ผู้ผลิตเทคโนโลยีการท่องเที่ยวเสมือนจริง ส่วนใหญ่ยังเป็นหน่วยงานภาครัฐ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่องานด้านการตลาด หรือ การประชาสัมพันธ์เป็นหลัก

สำหรับภาคธุรกิจ ที่สนใจผลิตเทคโนโลยีการท่องเที่ยวเสมือนจริง ผู้ประกอบการคงต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งเจ้าของสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยวภาครัฐ และเอกชน ในแต่ละชุมชน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการออกแบบงานดิจิทัล

Virtual Tours 2

ขณะเดียวกัน ยังต้องอาศัยช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ในการติดต่อเชื่อมสัมพันธ์กับโลกภายนอก ทั้งแบบไลฟ์สด และการอัดคลิปวิดีโอ เพื่อประชาสัมพันธ์ และสร้างแคมเปญการตลาดที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ ยังอาจต้องศึกษา ประเด็นข้อกฎหมาย ด้านลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ ประกอบด้วย กล่าวคือ ผู้ประกอบการคงต้องประเมินความคุ้มค่าของการลงทุน  หรือ ต้นทุนการผลิต เทคโนโลยีการท่องเที่ยวเสมือนจริง เทียบกับโอกาสจากการต่อยอด ไปสู่การสร้างรายได้ในอนาคต ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด คุ้มค่าหรือไม่

ท้ายสุดแล้วมองว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน จะยังเป็นเรื่องที่ยากลำบากพอสมควร สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ที่จะผลิตเทคโนโลยีการท่องเที่ยวเสมือนจริงโดยลำพัง

ขณะที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็เริ่มเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ด้วยการนำ เทคโนโลยีเสมือนจริง จาก เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) มาสร้างภาพแบบ 3 มิติ ผนวกกับการเดินทางท่องเที่ยว (Virtual Tours) พาชมสถานที่ท่องเที่ยว 10 แห่งใน 9 จังหวัดเมืองรองผ่านทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของ ททท.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo