Business

พิษโควิดซัด ยอดขายสมาร์ทโฟน ไตรมาสแรกวูบ 29.8%

ยอดขายสมาร์ทโฟน ไตรมาสแรกร่วง 29.8% ไอดีซีคาด แนวโน้มลดลงต่อเนื่องไตรมาส 2 จากพิษโควิด มาตรการล็อกดาวน์ และจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3

ไอดีซี (IDC) รายงานว่า ยอดขายสมาร์ทโฟน ในไตรมาสแรกปี 2563 ลดลงเพราะพิษโควิด โดยมียอดขายอยู่ที่ 3.6 ล้านเครื่อง ลดลง 29.8% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 20.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2562

ยอดขายสมาร์ทโฟน ไตรมาสแรก ลดวูบ

การเติบโตที่ลดลงของ ยอดขายสมาร์ทโฟน นอกจากจะเป็นปกติของไตรมาสแรกที่ยอดขายลดลงเป็นปกติแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้หลายแบรนด์ได้รับผลกระทบจากการขาดสินค้าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ตามมาด้วยประกาศปิดเมืองในเดือนมีนาคม ส่งผลให้ยอดขายจากหน้าร้านหายไป

อย่างไรก็ตาม แม้แบรนด์สมาร์ตโฟนและค่ายโทรคมนาคม จะปรับตัวต่อการหยุดชะงักของหน้าร้าน โดยเปลี่ยนไปทำกิจกรรมการขายและการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์มาเก็ตเพลส โซเชียลมีเดีย แต่ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่ทุกร้านค้าสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ถึงแม้ว่าช่องทางออนไลน์จะมีการเติบโต แต่ไม่สามารถชดเชยส่วนที่เสียโอกาสไปจากหน้าร้านได้ทั้งหมด

ขณะเดียวกัน แม้ว่าปัจจุบัน ภาครัฐจะเริ่มผ่อนปรน และทำให้ร้านจำหน่ายสมาร์ทโฟน กลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง แต่ก็คาดว่า ยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนยังคง
ลดลงอีกครั้งในไตรมาสที่ 2 แต่จะเริ่มเห็นการเติบโตในไตรมาสที่ 3

5แบรนด์แรก

สำหรับภาพรวมของแบรนด์สมาร์ทโฟน 5 อันดับแรก พบว่า ออปโป้เป็นผู้นำในตลาดด้วยรุ่น A ที่ได้รับความนิยม รวมทั้งเน้นบริการหลังการขาย การโปรโมทฟีเจอร์ในรุ่นที่ราคาสูง และการขยายตลาดไปยังกลุ่มสินค้าประเภทไอโอที

ขณะที่ ซัมซุง ยังคงเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดอันดับต้นๆ จาก Galaxy รุ่น A แต่เนื่องจากผลกระทบจากโรคระบาดทำให้ยอดจำหน่ายลดลงในไตรมาสที่ 1 ส่วน แบรนด์วีโว่ เน้นไปที่รุ่น Y ซึ่งอยู่ในช่วงราคาที่ตอบสนองต่อตลาดไทยและเพิ่มการสนับสนุนคู่ค้าและกิจกรรมการตลาด

ในส่วนของแบรนด์หัวเว่ย ยังคงจำหน่ายได้ดีในรุ่นที่มีการรองรับกลุ่มแอปพลิเคชั่นของกูเกิล และช่วยโปรโมทหน้าร้านของคู่ค้าบนโซเชียลมีเดีย ในช่วงปิดเมือง ปิดท้ายด้วย แอปเปิ้ล ที่ได้รับผลกระทบจากในด้านของซัพพลายในหลายๆ รุ่น แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่แข็งแรง ทำให้ยังคงสามารถจำหน่ายสมาร์ทโฟนในระดับที่สูงในตลาดไทย

ตัวเลขดังกล่าว สอดคล้องกับผลสำรวจของ การ์ทเนอร์ ที่ระบุว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ ยอดขายสมาร์ทโฟน ทั่วโลก ประสบกับภาวะตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะผู้ผลิตชั้นนำส่วนใหญ่จากจีนรวมถึง แอปเปิล ต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการปิดโรงงานชั่วคราวในประเทศจีน และการลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคทั่วโลก

ทั่วโลก

ทั้งนี้ จาก 5 แบรนด์ใหญ่ในตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลก พบว่า ผู้นำตลาดอย่างซัมซุง ยอดขายมือถือ ในไตรมาสแรก 2563 อยู้ที่ 55,333 ยูนิตหรือเครื่อง ลดลง 22.7% จากยอดขาย 71,621 ยูนิต ในไตรมาสแรกปี 2562 และมีส่วนแบ่งตลาดลดลงจาก 19.1% เหลือ 18.5% แต่ยังครองความเป็นผู้นำตลาดอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่า ซัมซุง จะมีการเพิ่มสินค้าในคลังมากขึ้นเพื่อรองรับการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ ที่ออกสู่ตลาด แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ล็อคดาวน์ผนวกกับช่องทางการขายออนไลน์ที่ยังไม่แข็งแกร่งพอ ส่งผลให้ยอดขายสมาร์ทโฟนในกลุ่มเอ็นยูสเซอร์ต่ำกว่าช่องทางการขายปกติมาก

สำหรับแบรนด์อันดับสองอย่าง หัวเว่ย นับเป็นครั้งแรกที่ยอดขายลดลงมากที่สุดเหลือ 42,499 ยูนิต จาก 58,436 ยูนิตเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2562 หรือลดลงถึง 27.3% แต่ยังคงครองอันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 14.2%

ต่อกันที่แบรนด์อันดับสาม แอปเปิ้ล ที่แม้จะไม่ต้องขึ้นอยู่กับประเทศจีนเหมือนอย่างแบรนด์จีนอื่นๆ แต่ต้องเผชิญกับข้อจำกัด ทั้งด้านความต้องการของตลาด และการปิดร้านค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อ ยอดขายมือถือ ไอโฟนในไตรมาสแรกของปี 2563 โดยมียอดขาย 40,920 ยูนิต ลดลง 8.2% จากยอดขาย 44,569 ยูนิต ในไตรมาสแรกปี 2562 และมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 13.7%

ดังนั้น จึงต้องจับตามองว่า ยอดขายสมาร์ทโฟนในไตรมาสที่ 2 จะยังคงลดลงต่อเนื่องตาม ไอดีซี คาดการณ์ไว้หรือไม่ เนื่องจากปัจจุบัน สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ที่สำคัญคือ จากยอดขายที่หายไปในไตรมาสแรก ย่อมทำให้ผู้ประกอบการค่ายมือถือ ออกมาโหมกิจกรรมการตลาด เพื่อกระตุ้น ยอดขายมือถือ ในช่วงเวลาที่เหลือของปีอย่างเต็มที่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo