Business

‘เจ้าหนี้การบินไทย’ ใจดี! ผ่อนผันไม่ยึดเครื่องบินในต่างประเทศ

ที่ปรึกษากฎหมายเผย เจรจา “เจ้าหนี้การบินไทย” ไปได้สวย หลายรายยืนยันไม่ยึดเครื่องบิน พร้อมยื่นศาลต่างประเทศรับรองฟื้นฟูกิจการ ด้านยื่น “Chapter 11” ขอเป็นทางเลือกสุดท้าย

เจ้าหนี้การบินไทย

วันนี้ (8 มิ.ย.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI จัดการประชุมออนไลน์  (e-Meeting) เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน บุคคลที่เกี่ยวข้อง พร้อมชี้แจงแนวทาง ขั้นตอนการแก้ไข ประเด็นพิจารณาและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท ตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โดยที่ประชุมฯ ได้ชี้แจงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า เครื่องบินของการบินไทยจะถูกเจ้าหนี้ยึด รวมถึงเหตุผลที่บริษัทไม่ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ ภายใต้กฎหมายล้มละลายมาตรา 11 ของสหรัฐอเมริกา (Chapter 11) เพื่อจะได้รับความคุ้มครองไปทั่วโลก

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ที่ปรึกษากฎหมาย ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า การถูกเจ้าหนี้ยึดเครื่องบินก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณา เพราะในอนาคตการบินไทยต้องใช้เครื่องบินให้บริการไปต่างประเทศ และการบินไทยมีเจ้าหนี้ที่เป็นเจ้าของเครื่องบินอยู่หลายราย

ปัจจุบัน จึงได้เริ่มเจรจากับ เจ้าหนี้การบินไทย ที่เป็นผู้ให้เช่าเครื่องบินหลายเจ้าแล้ว โดยหลายเจ้าก็ได้ผ่อนผัน ให้การบินไทยใช้เครื่องบินไปก่อน ไม่ยึดเครื่องช่วงที่การบินไทยบินไปต่างประเทศ ถ้าหากการบินไทยผิดสัญญา ไม่ชำระค่าเช่า เขาก็จะส่งหนังสือแจ้งเตือน (Notice) ตามขั้นตอนทวงหนี้ปกติ แต่ ณ วันนี้ ยังไม่ใครแจ้งยกเลิกสัญญา ดำเนินการใดๆ หรือยึดเครื่องการบินไทย

195103

นอกจากนี้ การบินไทยได้ยื่นขอให้ศาลต่างประเทศ รับรองการฟื้นฟูกิจการและสภาพบังคับของการฟื้นฟูกิจการในประเทศไทย โดยล่าสุดการบินไทยได้ยื่นต่อศาลต่างประเทศไปแล้วประมาณ 2 ประเทศ และกำลังตามมาอีกหลายประเทศ

ส่วนกรณีการยื่น Chapter 11 นั้น ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น เพราะการบินไทยกำลังเจรจากับเจ้าหนี้ต่างประเทศได้ค่อนข้างดี และ การขอคำรับรองฟื้นฟูกิจการในประเทศที่บินไป ก็ได้ผลดี

“เพราะฉะนั้น Chapter 11 จะเป็นทางออกสุดท้ายจริงๆ มันจะยุ่งยาก เสียเวลามาก แต่เรายังไม่ตัดประเด็นการขอความคุ้มครองตาม Chapter 11” ที่ปรึกษาทางกฎหมายกล่าว

ออสเตรเลีย5

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา การบินไทย ได้ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทจะพักชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งหมดของบริษัท มูลค่ารวมกว่า 71,600 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ถือเป็นเงื่อนไขที่เป็นเหตุผิดนัด (Events of Default) โดยมีรายละเอียดดังนี้

สำหรับหุ้นกู้การบินไทย ครั้งที่ 2/2562 ที่เป็นหุ้นกู้ชุดล่าสุดที่ออกมามี 5 ชุด มูลค่ารวม 8,788 ล้านบาท

หุ้นกู้การบินไทย ครั้งที่ 2/2562 ชุดที่ 1 มูลค่า 2,035 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2563

หุ้นกู้การบินไทย ครั้งที่ 2/2562 ชุดที่ 2 มูลค่า 634 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน ปี 2564

หุ้นกู้การบินไทย ครั้งที่ 2/2563 ชุดที่ 3 มูลค่า 2,453 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน ปี 2566

หุ้นกู้การบินไทย ครั้งที่ 2/2563 ชุดที่ 4 มูลค่า 1,899 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน ปี 2572

หุ้นกู้การบินไทย ครั้งที่ 2/2562 ชุดที่ 5 มูลค่า 1,767 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน ปี 2577

ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้มีหนังสือมายังบริษัท เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 โดยขอให้บริษัทชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งหมดโดยพลัน ซึ่งทำให้หุ้นกู้ดังกล่าวถึงกำหนดชำระโดยพลัน แต่เนื่องจากบริษัทกำลังอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ จึงมีผลทำให้บริษัทอยู่ในสภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic Stay) และจะไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ดังกล่าวได้ ซึ่งการชำระหนี้เงินดังกล่าวถือเป็นเหตุผิดนัด (Events of Default) ภายใต้ข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้เช่นกัน

นอกจากนี้ การไม่ชำระหนี้ภายใต้หุ้นกู้ชุดที่เกี่ยวข้อง ยังอาจเป็นเหตุผิดนัดภายใต้หุ้นกู้ชุดอื่นๆ (Cross Default) ด้วย โดยหุ้นกู้ชุดอื่นมีทั้งหมด 41 ชุด ที่เป็นการออกตราสารหนี้เมื่อปี 2555 -2563 รวมมูลค่า 62,820 ล้านบาท

ปัจจุบันการบินไทยยังไม่สามารถคืนเงินค่าตั๋วโดยสารและยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ในเรื่องนี้ รวมถึงต้องระงับการนำไมล์สะสมของลูกค้าสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส (Royal Orchid Plus: ROP) มาแลกของรางวัลบางประเภท เนื่องจากการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo