Business

แรงงาน 400 ชีวิต ตกงาน กอดคอร้องไห้ หลังไทยยูเนี่ยน ปิด แพ็คฟู้ด เซ่นพิษโควิด

แรงงาน 400 ชีวิต ตกงาน หลัง ไทยยูเนี่ยน ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งรายใหญ่ ปิดโรงงานแพ็คฟู้ด นครศรีธรรมราช หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก

แรงงาน 400 ชีวิต ตกงาน โดย ผู้ใช้ เฟซบุ๊ก Bunsri Kumueng ได้โพสต์ถึงการปิดโรงงาน บริษัท แพ็คฟู้ด จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือ ไทยยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า

แรงงาน 400 ชีวิต ตกงาน

“เกือบ 15 ปีกับหม้อข้าวใบใหญ่ใบนี้ แต่โควิดพิษเศรฐกิจ ทำเอาพนักงาน 400 กว่าชีวิต ต้องมาเกมพร้อมกัน ขอบคุณทุกๆคน ทั้งหัวหน้างาน น้องๆ หมวกเขียว หมวกแดง หมวกฟ้า หมวกขาว หมวกขาวคาดแดง รวมทั้งออฟฟิศ คนทำกับข้าว คนหุงข้าว เเละนายช่างทั้งหลาย คนยกน้ำ และอีกหลายๆคนที่ทำให้เรายืนอยู่ได้กันมานาน เราคงไม่วันลืมจุดยืนตรงนี้ ขอบคุณจริงๆ ขอให้ทุกๆคนโชคดีตลอดไป”

“ยอมใจหัวหน้าหมวกแดงคนนี้ ผู้บอกขอโทษที่พาน้องๆ พี่ๆ ไปไม่ถึงฝั่ง พวกเราก็อยากบอกเหมือนกันว่าไม่ใช่เป็นความผิดของผู้ที่พาพวกเราไปไม่ถึงฝั่ง พวกเราสู้กันเต็มที่แล้ว แต่บริษัทคงไปต่อไม่ไหวจริงๆ ได้ยินคำนี้ตาไหลออกมาเองเฉย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงงานแพ็คฟู้ด ปิดดำเนินการวันแรกในวันนี้ (8 มิถุนายน 2563) พร้อมทั้งรับปากพนักงานว่าจะจ่ายค่าชดเชยตามกฏหมาย รวมถึงจ่ายค่าชดเชยไม่แจ้งล่วงหน้า ขณะที่พนักงานอายุงาน 50 ปี ขึ้นได้ จะได้รับเงินค่าเกษียณตามกฏหมายด้วย

แพ็คฟู้ด

ทั้งนี้ บริษัทให้เหตุผลกับพนักงานถึงการปิดกิจการดังกล่าวว่า เป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลก และการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ซึ่งบริษัทพึ่งพารายได้จากตลาดส่งออกเป็นหลัก เป็นผลให้ขาดทุนสะสมต่อเนื่อง นำมาสู่การตัดสินใจปิดกิจการในที่สุด

สำหรับบริษัท แพ็คฟู้ด จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในเครือ ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป ตั้งอยู่ที่ตำบลปากพนังฝั่งตะวันตก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพนักงานกว่า 400 คน เป็นคนไทยทั้งหมด โดยดำเนินการผลิตแปรรูปเนื้อปูม้าบรรจุกระป๋อง และบรรจุถ้วยพลาสติก จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยน ได้ประกาศปิดโรงงานผลิตปลากระป๋อง ไพโอเนีย ฟู้ด แคนเนอรี (PEF) ในประเทศกานาชั่วคราว เพื่อทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ และกักตัวพนักงาน หลังจากมีคนงาน 1 คนได้รับผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 และยังไม่มีกำหนดการกลับมาเปิดโรงงานที่ชัดเจน

ด้านบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ตัดสินใจปิดโรงงานของบริษัท แพ็คฟู้ด จำกัด (มหาชน) ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช แม้จะเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่เนื่องจากสถานการณ์และปัจจัยภายนอก รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบที่เหมาะสมภายในประเทศ และขาดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก โรงงานจะหยุดการผลิตในวันที่ 9 มิถุนายน 2563 นี้ และกำลังพิจารณาขั้นตอนต่อไปที่เหมาะสมกับธุรกิจ

อุตสาหกรรม ‘อาหารทะเลแปรรูป’ ไทย ไม่ฉลุยมาตั้งแต่ปี 2562 แม้จะมี ‘ภูมิศาสตร์’ ทางทะเลที่ทำให้ไทยได้เปรียบในการจับสัตว์น้ำ จนส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลแปรรูปรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาด 4%

กว่า 20% ของมูลค่าการส่งออกอาหารในไทยทั้งหมดมาจาก ตลาดอาหารทะเลแปรรูป และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 5% ต่อปี
ขณะที่วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ในปี 2562-2564 อัตราการเติบโตจะลดต่ำลงเหลือ 1-2% ในเชิงปริมาณ และ 0.5-1% ในเชิงมูลค่า เมื่อเทียบกับปี 2561 อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปของไทยมีมูลค่ารวมกว่า 6.6 พันล้านเหรียญ แบ่งเป็นตลาดส่งออกถึง 89%

สัดส่วนสินค้าส่งออกแต่ละประเภท ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง 38.6% กุ้งแช่แข็ง 13.1% กุ้งปรุงสุก 9.5% ปลาหมึกแช่แข็ง 5.6% ปลาปรุงสุก 5.5% และอื่นๆ

ตลาดส่งออกอื่นๆ จะมีปัจจัยสำคัญคือ ‘ค่าเงิน’ และ ‘น้ำมัน’ ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการส่งออกวัตถุดิบ แต่สำหรับอาหารทะเล จะมีปัจจัยเรื่อง ‘ปริมาณสัตว์น้ำ’ ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศที่แปรปรวน

สถานการณ์ของสัตว์ในท้องทะเลอยู่ในช่วงขาลง จนทำให้หลายประเทศออกมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำ เช่น การกำหนดโควตา หรือกำหนดช่วงเวลาในการจับสัตว์น้ำตัวเล็กๆ

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดแคลนแรงงาน และการจัดระเบียบมาตรฐานประมงในไทย ทั้งหมดกระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ในภาคใต้ของไทย ยิ่งศึกสงครามการค้ายืดเยื้อ ตลาดส่งออกอาหารทะเลแปรรูปไทยก็พลอยได้รับผลกระทบจากผู้นำเข้าอย่างจีนและสหรัฐฯ

ที่สำคัญคือ ไทยเริ่มโดนหลายๆ ประเทศเล่นเกม Price War ทั้งจากจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทั้ง 3 ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันสูง เพราะมีแต้มต่อในเรื่อง ‘ต้นทุนการผลิต’ ที่ต่ำกว่าไทย โดยเฉพาะในเรื่องค่าแรง ยังไม่นับตลาดเกิดใหม่แถบตะวันออกกลาง แอฟริกา และละตินอเมริกา ที่กำลังรุกคืบเข้ามาชิงเค้กก้อนนี้

โดยเฉพาะ ‘ค่าแรง’ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในยุคนี้ ประเทศไหนที่ค่าแรงถูกกว่า นั่นหมายถึงต้นทุนการผลิตที่ในระยะยาวย่อมคุ้มค่ากว่า

สำหรับประเทศไทย เดิมเติบโตมาต่อเนื่อง แต่มาวันนี้เริ่มโดนประเทศที่กำลังพัฒนาไล่หลังมาติดๆ ด้วยค่าแรงที่ถูกกว่า ดังนั้นผลผลิตย่อมมากกว่า ความท้าทายในประเทศก็สาหัส เพราะผู้ประกอบการไทยไม่สามารถปรับขึ้นราคาขาย ขณะที่ราคาวัตถุดิบ และต้นทุนกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แถมมาโดนกระหน่ำด้วยพิษเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 อีก ทั้งภาคแรงาน และผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอ่วมไปตามๆกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo