Business

‘เพิ่มทุน-ลดทุน’ สะท้อนปัญหาสภาพคล่อง ตุนเงินสู้วิกฤติ

เพิ่มทุน กลยุทธ์ธุรกิจรับมือวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบให้ธุรกิจปิดกิจการ ตัวเลขคนว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น หนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนคนตกงาน

ในแง่ของธุรกิจ ผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากการประกาศปิดกิจการ เลิกจ้างหรือปลดพนักงานแล้ว การเพิ่มทุน และลดทุน และการออกหุ้นกู้ สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยังเป็นตัวสะท้อนถึงภาวะวิกฤติของธุรกิจได้เช่นกัน เพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่อง และล้างผลขาดทุนสะสม

บริษัทแห่ เพิ่มทุน รักษาสภาพคล่อง

ทั้งนี้ เห็นได้จากข้อมูลการเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นับแต่ต้นปี 2563 จนถึง 19 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่า มีบริษัทจดทะเบียน ประกาศขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแล้วถึง 14 บริษัท รวมมูลค่ากว่า 8,053 ล้านบาท

ในบรรดาบริษัทที่เพิ่มทุนดังกล่าว บริษัทที่ออกหุ้นเพิ่มทุนมูลค่าสูงสุดคือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) (BAM) โดยเป็นการจัดสรรให้บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทรีนีตี้ จำกัดในฐานะผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินที่ได้ใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Exercised Greenshoe Option) เพื่อส่งคืนให้กับผู้ถือหุ้นที่ให้ยืมหุ้นคือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มูลค่า 3,798.24 ล้านบาท

อีกความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ และสะท้อนถึงผลกระทบของวิกฤติไวรัสโควิด-19 ได้ชัดเจนคือ บริษัท ไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) (MINT) ที่ประกาศแผนการจัดหาเงินทุน 25,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2563-2566 จากการออกหุ้นกู้  10,000 ล้านบาท และ การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน 10,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ส่วนอีก 5,000 ล้านบาท มาจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพื่อจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม หลังจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนเสร็จสิ้น

โรงแรม 1

 

การระดมเงินถึง 25,000 ล้านบาทของ ไมเนอร์ฯ ครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างเงินทุน ให้บริษัทสามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤติไปได้ โดยเฉพาะผลกระทบจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่กระทบธุรกิจทั้ง 3 ขาหลักของเครือไมเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ธุรกิจร้านอาหารและกลุ่มสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ซึ่งส่งผลให้ในไตรมาส 1 ปี 2563 ไมเนอร์ฯ ขาดทุนสุทธิถึง 1,774 ล้านบาท

ขณะที่วิกฤติครั้งนี้ ยังส่งผลให้เกิดกลยุทธ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ เพื่อต่อลมหายใจธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น (AWC)  ที่ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ คิดค้นโปรแกรมสินเชื่อรูปแบบใหม่ Revolving Development Credit Program-Cum Debenture (RDPD) วงเงิน 30,000 ล้านบาท

ความพิเศษของโปรแกรมสินเชื่อหมุนเวียนดังกล่าว จะเหมาะกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ โดยสามารถเบิกถอนวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้สำหรับลงทุนพัฒนาก่อสร้าง และเมื่อพัฒนาโครงการแล้วเสร็จจนสามารถรับรู้รายได้ AWC สามารถนำกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหรือการออกหุ้นกู้มาชำระคืนสินเชื่อหมุนเวียนตามโปรแกรมดังกล่าว ส่งผลให้ AWC สามารถเบิกถอนวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้พัฒนาโครงการได้ต่อไป

แอสเสท เวิรด์ คอร์ป3

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า การริเริ่มโปรแกรมสินเชื่อรูปแบบใหม่ในครั้งนี้ สะทอ้นเห็นถึงความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยในระยะยาว รวมถึงแผนเติบโตแบบก้าวกระโดดของ AWC อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศเพิ่มทุนอีกหลายกิจการ ที่มีเป้าหมายเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจในภาวะวิกฤติ เช่น บริษัท หลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) (AEC) ที่ใช้วิธีลดทุนจดทะเบียนของบริษัท จากทุนจดทะเบียนเดิม 2,414,615,498 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 1,224,249,008 บาท จากการตัดลดหุ้นสามัญจดทะเบียน ที่ยังไม่ได้จำหน่าย และใบสำคัญ แสดงสิทธิ จำนวน 1,190,366,490 หุ้น ออกทั้งหมด

จากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท จำนวน 750,000,000 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 1,224,249,008 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 1,974,249,008 บาท โดยจะนำเงินที่ได้รับจากการออกและจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนมาเป็นแหล่งเงินทุนและเงินทุนหมุนเวียนให้กับบริษัทฯ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งการขยายธุรกิจหลัก ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และการต่อยอดธุรกิจในอนาคต

นางวัลลภา ไตรโสรัส 1
วัลลภา ไตรโสรัส

 

ตามด้วย บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)(VNG) ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติให้ลดทุนและเพิ่มทุน โดยมีมติลดทุนจดทะเบียนจากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 1,567,006,952 บาท เป็นทุนจดทะเบียน 1,567,006,876 บาท จากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 223,858,125 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 1,567,006,876 บาท เป็นทุนจดทะเบียน 1,790,865,001 บาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่ 223,858,125 หุ้น  ราคาเสนอขายหุ้นละ 3.75 บาท

วัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน และการใช้เงินทุนในส่วนที่เพิ่ม บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มทุนเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและศักยภาพในการแข่งขันให้แก่บริษัท ทั้งในด้านการดำเนินงานและด้านเงินทุน โดยบริษัทมีแผนจะนำเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัท และชำระเงินกู้ระยะสั้น เพื่อช่วยให้ผลประกอบการของบริษัทได้กลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้น หลังจากปัจจัยลบต่างๆ ส่งผลให้ยอดขายของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา

ด้านบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย จำกัด เป็นอีกหนึ่งธุรกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเศรษฐกิจตกต่ำเช่นกัน เห็นได้จากรายได้ธุรกิจโรงแรมที่มีรายได้ไตรมาสสอง 113 ล้านบาท ลดลง 21.74% จากไตรมาส 1 และลดลง 26.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากผลกระทบมาตรการห้ามเดินทางของภาครัฐ

บรรยากาศภายนอกสามย่านมิตรทาวน์ 1

ทั้งนี้ เฟรเซอร์ฯ แก้ปัญหาด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) จำนวนทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละ 15 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ที่ราคาต่อหุ้น 10.60 บาท โดยจะนำเงินเพิ่มทุนที่ได้รับไปใช้ในการลงทุนโครงการต่าง ๆ และเสริมความพร้อมสำหรับโอกาสการลงทุนต่อไป

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเชื่อว่าในไตรมาสสามปีนี้ ผลประกอบการโดยรวมของภาคธุรกิจจะยังไม่ฟื้นคืน เนื่องจากแม้จะมีมาตรการคลายล็อกออกมาบ้างแล้วจากรัฐบาล แต่กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างส่งออกและท่องเที่ยวยังทำงานได้ไม่เต็มกำลัง

ดังนั้น ทางรอดของภาคธุรกิจที่ยังพอมีสายป่าน จึงอยู่ที่การจัดหาเงินทุนเข้ามาสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่อง เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดรอวันเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

 

Avatar photo