Business

ไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะ ‘เงินฝืด’ หลังเงินเฟ้อ พ.ค.ติดลบ 3.44% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี

เงินฝืดแล้ว พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม ติดลบ 3.44% ต่ำกว่าวิกฤติซับไพร์มที่ลดลง 4.4% ในรอบกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา หวังคลายล็อกดาวน์หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า แถลงภาวะเงินเฟ้อ ประจำเดือนพฤษภาคม 2563 ว่า ไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะ เงินฝืด แล้ว หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2563 ลดลง 3.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา และเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.01% นับเป็นการติดลบมากสุดในรอบ 10 ปี 10 เดือน นับจากเดือนสิงหาคม 2552 จากที่เคยติดลบมากสุดเดือนกรกฎาคม 2552 ที่ลดลงถึง 4.4% หลังวิกฤติซับไพรม์

เงินฝืด

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ภาวะ เงินฝืด ของไทยในขณะนี้ ยังคงมีสินค้ามีราคาสูงขึ้นมากกว่าสินค้าที่ราคาลดลง ซึ่งไม่สอดคล้องหลักวิชาการที่ภาวะเงินฝืดราคาสินค้าต้องลดลง เนื่องจากสินค้าที่ลดลงมาเป็นน้ำมันและไฟฟ้าประปา และเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมลดลง

“ขณะนี้เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 3 เดือน ทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ได้ติดลบมาก ปีนี้เงินเฟ้อของไทยจะติดลบ แต่ติดลบเท่าไร ขอดูไตรมาส 2ก่อน”นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าจะมีการปรับสูงขึ้นหลายครั้งในเดือนนี้ แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพบางรายการ

พิมพ์ชนก วอนขอพร
พิมพ์ชนก วอนขอพร

ขณะที่ฐานราคาอาหารสด โดยเฉพาะผักสดปีที่ผ่านมาค่อนข้างสูง ทำให้ราคาผักสดลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับสถานการณ์และพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน

ส่วนภาพรวมเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.63) เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาติดลบ 1.04% และเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้นร้อยละ 0.40% อย่างไรก็ตาม เงินเฟิอทั้งปีติดลบแน่นอน และทางสำนักงานฯ ยังไม่ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2563 ที่จะติดลบ 0.2% ถึงติดลบ 1.0%

สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตและบริการ ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว แม้ว่าจะมีหลายประเทศรวมถึงไทยได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บ้างแล้ว แต่ยังคงจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในบางกิจกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าและบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับศักยภาพการผลิตและความสามารถด้านการแข่งขันของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้โดยเร็ว ขณะที่ภัยแล้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญต่อไป

Avatar photo