Business

‘คลินิกแก้หนี้’ จัดเต็มยาสองขนาน แก้หนี้เสียบัตรเครดิตแล้ว 21,000 ใบ

คลินิกแก้หนี้ เผยช่วยแก้หนี้บัตรไปแล้วกว่า 21,000 ใบ ครอบคลุมลูกหนี้ 4,204 ราย จากยา 2 ขนาน ทั้งให้สิทธิเลื่อนชำระหนี้ และลดดอกเบี้ย ส่งผล NPL ไม่เพิ่ม

หนี้ของหลายคน ส่วนใหญ่..เกิดจากใช้ “บัตรเครดิต” และมีพฤติกรรมการจ่ายขั้นต่ำ การกดเงินสดออกมาใช้ก่อน หมุนบัตรนั้นโปะบัตรนี้ มีบัตรเครดิตหลายใบ รูดจนหนี้สินเพิ่มขึ้น จากที่เคยจ่ายขั้นต่ำไหว ก็กลายเป็นเลิกจ่าย เปลี่ยนสภาพกลายเป็นหนี้เสีย หรือ NPL หรือที่เรียกกันว่าติด black list ปัญหาเรื้อรังนี้ คลินิกแก้หนี้ ถือเป็นทางออกสำหรับคนเป็นหนี้บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด

คลินิกแก้หนี้ คืออะไร?

คลินิกแก้หนี้ คือ หน่วยงานกลางที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาแทนเจ้าหนี้ (บสส.) ภายใต้เกณฑ์และกรอบกฎหมายที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นช่องทางที่ช่วยให้ประชาชนมีโอกาสปลดหนี้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากลูกหนี้ที่มีบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล มีเจ้าหนี้หลายราย และต้องการปลดหนี้ทั้งหมด คลินิกแก้หนี้จะช่วยหาแนวทางการชำระหนี้ นอกจากนี้ยังแนะนำการวางแผนทางการเงินที่ดี เพื่อให้ไม่ต้องตกอยู่ในวงจรของหนี้สินอีกต่อไป

จุดน่าสนใจของคลินิกแก้หนี้

1. รวมหนี้จากทุกเจ้าให้เหลือหนี้เพียงก้อนเดียว ทำสัญญาแก้หนี้เพียงฉบับเดียวเท่านั้น

2. ผ่อนเฉพาะเงินต้น ตามตารางชำระหนี้

3. ผ่อนยาวได้ ไม่เกิน 10 ปี มีดอกเบี้ยขั้นต่ำ 4 – 7% ต่อปี ปกติแล้ว บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง 18% หรือ 28%

4. มีการให้ความรู้ด้านการเงินกับคนที่เข้ามาปรึกษา เพื่อสร้างวินัยทางการเงิน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย เพื่อให้สามารถบริหารจัดการหนี้สินของตนเองได้

5. ไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบ

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า โครงการ คลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นโครงการแก้หนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

คลินิกแก้หนี้ จัดยา 2ขนาน แก้บัตรเสีย

สำหรับผลของมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวถือว่าน่าพอใจ เนื่องจากไม่มีลูกหนี้ต้องออกจากโครงการแม้สักรายเดียว ด้วยเหตุว่าผ่อนชำระค่างวดไม่ไหว ในขณะที่ลูกหนี้ที่ชำระค่างวดเข้ามา โครงการได้ช่วยเหลือโดยการลดดอกเบี้ยให้ 2% เพื่อลดภาระในช่วงนี้ อีกทั้ง แนวทางช่วยเหลือของโครงการมีกระบวนการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เป็นตัวอย่างที่สถาบันการเงินอาจนำไปประยุกต์ในการออกแบบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะต่อไปได้

ทั้งนี้ ณ เดือนพฤษภาคม 2563 โครงการคลินิกแก้หนี้ สามารถช่วยประชาชนแก้หนี้บัตรไปแล้วกว่า 21,000 ใบ ครอบคลุมลูกหนี้ 4,204 ราย ซึ่งมีหนี้บัตรเฉลี่ยรายละ 5 ใบ มูลหนี้เฉลี่ยต่อราย 340,000 บาท และขณะนี้มีลูกหนี้ที่รอลงนามในสัญญาอีกกว่า 800 ราย เนื่องจากไม่สามารถเดินทางช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา และอีก 1,500 ราย อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจเช็คข้อมูลกับสถาบันการเงิน โดยคาดว่าครึ่งแรกของปี 2563 ตัวเลขผู้เข้าร่วมโครงการจะเกิน 5,000 ราย

นางธัญญนิตย์ กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ซึ่งเปรียบเหมือนลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับยา 2 ขนานเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดย ยาชนิดแรก คือ การผ่อนปรนให้สามารถเลื่อนงวดชำระ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือนในช่วง เมษายน – กันยายน 2563

ธัญญนิตย์

ขณะที่ยาชนิดที่สอง เป็นการปรับลดดอกเบี้ยลง 2% เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย และเป็นแรงจูงใจให้ผู้เข้าร่วมโครงการที่จ่ายค่างวดเข้ามาต่อเนื่อง โดยดอกเบี้ยในช่วงนี้เหลือเพียง 2-3%

นอกจากนี้ยังพบว่า ผลของมาตรการมีหลายส่วนน่าสนใจ กล่าวคือ แม้จะให้สิทธิในการเลื่อนกำหนดชำระหนี้ หรือ ไม่ต้องจ่ายค่างวดแก่ลูกหนี้ทุกราย ปรากฏว่ามีลูกหนี้เพียง 28% ที่เลือกมาตรการนี้ ในขณะที่ลูกหนี้ที่เหลืออีก 72% ยังจ่ายค่างวดเข้ามาตามปกติ โดยลูกหนี้ 18% ชำระเข้ามามากกว่าค่างวด ส่วนใหญ่คือ 52% จ่ายค่างวดได้ครบ และมีเพียง 2% เท่านั้นที่จ่ายชำระได้เพียงบางส่วน

“การออกแบบมาตรการช่วยเหลือที่ยึดลูกหนี้เป็นที่ตั้ง คือ คำนึงถึงปัญหา ความเดือดร้อน และข้อจำกัดของลูกหนี้ ช่วยให้โครงการสามารถตอบโจทย์ลูกหนี้ได้ทุกราย ทั้งรายที่ผ่อนไม่ไหวในช่วงนี้และรายที่สามารถจ่ายเข้ามาก็จะเสียดอกเบี้ยน้อยลง ในขณะเดียวกันก็ช่วยตอบโจทย์เจ้าหนี้ด้วยเช่นกัน เพราะไม่มีลูกหนี้ที่ต้องกลายเป็นหนี้เสีย และลูกหนี้ส่วนใหญ่ที่มีความสามารถยังผ่อนชำระเข้ามาต่อเนื่อง”นางธัญญนิตย์ กล่าว

ธัญญนิตย์1

ส่วนประชาชนที่มีหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ที่สมัครเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ในช่วง เมษายน –  กันยายน 2563 จะได้รับสิทธิลดดอกเบี้ย 2% จากโครงการเช่นเดียวกัน โดยอัตราดอกเบี้ยที่ 2-3% ถือว่าผ่อนปรนมากเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยบัตรปกติที่ 18%

“วิกฤติโควิด 19 ถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือ ผ่อนปรนซึ่งกันและกัน และการที่สถาบันการเงินและลูกค้าสามารถปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกัน จะเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากในระยะข้างหน้า” นางธัญญนิตย์ กล่าวทิ้งท้าย

Avatar photo