Business

กสิกรไทยหั่น ‘จีดีพี’ ไทยติดลบ 6% ว่างงานพุ่ง 1 ล้านราย

จีดีพี ไทยปีนี้กระทบหนัก กสิกรไทยคาดติดลบ 6% เซ่นพิษโควิด-19 ธุรกิจชะลอลงทุน ซ้ำด้วยเศรษฐกิจโลกยังน่าห่วง หวังค่าบาทแข็ง ดึงเม็ดเงินต่างชาติเข้าไทย

จีดีพี ไทยติดลบ ว่างงานพุ่ง

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทย หรือตัวเลข จีดีพี ปีนี้ จะติดลบเพิ่มขึ้นจากครั้งล่าสุดที่คาดว่าจะติดลบ 5% เพิ่มเป็นติดลบ 6% จากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ที่ยังน่าเป็นห่วง รวมถึงปัญหาการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 แล้ว และจะมีการผ่อนคลายมาตรการออกมาเพิ่มเติมอีกในเดือนต่อๆไป แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่ของการเปิดให้บริการสถานที่ต่างๆเพื่อให้เกิดการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนว่าหากมีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้นแล้ว ประเทศไทยจะมีโอกาสมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาเป็นรอบ 2 หรือไม่ ทำให้ จีดีพี ไทย ติดลบเพิ่มในปีนี้

มาตรการเยียวยา

ขณะที่สถานการณ์ของเศรษฐกิจในต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยโควิด-19 ความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯที่เผชิญกับความเสี่ยงหลายด้านในตอนนี้ ซึ่งหากเศรษฐกิจในต่างประเทศยังคงชะลอตัวจะมากระทบต่อเศษฐกิจไทยด้วย โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่จะหดตัวลงเพิ่มขึ้นอีกเป็น 6.1% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 5.6%

นอกจากนี้ ยังมองว่าการลงทุนของภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยจะชะลอหรือเลื่อนออกไป โดยเฉพาะการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่อาจมีความล่าช้าในการลงทุนบางโครงการ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังเห็นการระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น จากปัจจัยความไม่แน่นอนที่ยังคงมีอยู่ และการหันมาลดค่าใช้จ่ายต่างๆลงของภาคเอกชน ทำให้ภาคเอกชนส่วนใหญ่พักแผนการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์

เว้นระยะห่าง

ด้านภาคการบริโภคครัวเรือนในประเทศยังคงมองว่ามีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงหลังจากนี้ โดยเป็นผลกระทบจากการว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นมาแตะระดับ 1 ล้านราย จากเดิมที่อยู่ระดับ 4 แสนราย ซึ่งการที่มีคนว่างงานเพิ่มขึ้น จะกระทบต่อกำลังซื้อที่ลดลงไป และทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลง

“แม้ว่าจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการมาถึงระยะที่ 3 แล้ว แต่ข้อจำกัดของ Social Distancing และเศรษฐกิจในต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัวกลับมาดี ทำให้ภาคธุรกิจและนายจ้างยังไม่สามารถกลับมาจ้างลูกจ้างเข้ามาทำงานได้เหมือนก่อนช่วงเกิดโควิด-19 เนื่องจากยังคงต้องควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานยังคงมีจำนวนสูงอยู่”น.ส.ณัฐพร กล่าว

ทั้งนี้ จะต้องรอติดตามว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลังนี้อย่างไร หลังจากมีการเยียวยากลุ่มที่มีความเปราะบางในระยะแรกไปแล้วผ่านมาตรการในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ซึ่งต้องติดตามว่าภาครัฐจะมีการจัดสรรเงินออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรต่อไป

P01 01

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทที่ปัจจุบันแข็งค่าขึ้นรวดเร็วที่ระดับ 31.60 บาท/ดอลลาร์ และแนวโน้มของดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2563 ที่คาดว่ายังเป็นบวก ทำให้จะสามารถดึงดูดเงินจากต่างชาติเข้ามาพัก ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทยังแข็งค่าได้ในระดับ 31.5-32 บาท/ดอลลาร์

Avatar photo