Business

ครม. ไฟเขียวโครงการ ‘ยางพารา’ หุ้มแบริเออร์

ครม. ไฟเขียวเดินหน้า “โครงการแผ่นยางหุ้มแบริเออร์” ลุยจัดซื้อตรงจากเกษตรกร ไม่มีนายหน้า โวช่วยอุดหนุนยางพารา 3.6 แสนตัน

DSC2697

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (26 พ.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการดำเนินการจัดทำแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ (Rubber Fender Barrier) โดยใช้วิธีการจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ที่จะนำมาดำเนินการบนถนนที่มีเกาะสีกั้นกลางของกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กว่า 12,000 กิโลเมตร แบ่งเป็นถนนของ ทล. ประมาณ 11,000 กิโลเมตร และ ถนนของ ทช. ประมาณ 1,000 กิโลเมตร ใช้น้ำยางพาราประมาณ 360,000 ตัน ในระยะเวลา 3 ปี

ขณะเดียวกันจะปรับแผนการใช้งบประมาณปี 2563 ของกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในส่วนที่เป็นพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต (PARA AC) ให้เหลือเพียงแค่แอสฟัลท์ติกคอนกรีต (AC) เท่านั้น ซึ่งจะเหลืองบประมาณ 2,500 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2564 และ 2565 จะขอใช้งบประมาณปีละประมาณ 40,000 ล้านบาท รวม 3 ปี ระหว่างปี 2563-2565 วงเงินประมาณ 85,000 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินการแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์ และเสาหลักกันโค้ง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไม่ได้รื้อเกาะกลางของเดิมอย่างแน่นอน

แบริเออร์4 46

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้เกษตรกรเป็นผู้จำหน่ายและผลิตยางพาราให้กับ ทล. และ ทช. โดยตรง ไม่ผ่านบริษัทอื่นๆ หรือนายหน้าภายในสัปดาห์หน้า ขณะที่ ทล. และ ทช. จะต้องไปถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งหลังจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะคัดเลือกสหกรณ์ที่มีความพร้อมในการดำเนินการ พร้อมได้รับคำยืนยันจากนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ด้วย

“โครงการนี้ เป็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และมีประสิทธิภาพในการการก่อสร้างที่รวดเร็วขึ้น จากปกติระยะทาง 1 กิโลเมตร จะใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 เดือน แต่พอมาเป็นแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์ จะเหลือเวลาแค่ 1 สัปดาห์ ซึ่งเร็วขึ้น 8 เท่า ส่วนจะนำมาใช้กับถนนไหนนั้น จะต้องมาเรียงลำดับความสำคัญต่อไป” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ ทล. และ ทช. ไปจดสิทธิบัตรแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์ เพราะเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ และใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content) รวมถึงยังให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มข.) ไปศึกษาวิธีการใช้น้ำยาเคลือบแผ่นยางพาราแบริเออร์ เพื่อยืดอายุเวลาจาก 3 ปี เป็น 5 ปี รวมถึงศึกษาการนำมาปรับปรุงใช้ใหม่อีกครั้ง  เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว

Avatar photo