Business

ชุมชนซ.สุขุมวิท 61 ต้านคอนโดหรู ‘IMPRESSION EKKAMAI’ ลั่นพึ่งกฏหมายหลังเจรจานานปีกว่า

หลังจากบริษัท เอเอชเจ เอกมัย จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กับ Hoosiers Holdings และ JR Kyushu จากญี่ปุ่น มูลค่าโครงการ 4,800 ล้านบาท ประกาศสร้างคอนโดมิเนียมหรู “IMPRESSION EKKAMAI” เมื่อปลายปี 2561 ส่งผลให้กลุ่มผู้พักอาศัยในซอยสุขุมวิท 61 ออกมาต่อต้านโครงการดังกล่าว

น.ส.ณพาพร โอวสุวรรณกุล ตัวแทน ชุมชนชาวบ้านซอยสุขุมวิทซอย 61 เปิดเผยว่า หลังจากผู้ที่พักอาศัยในซอยสุขุมวิท 61 ทราบว่าจะมีการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมความสูง 43 ชั้น ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยมานานในซอยสุขุมวิท 61 รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้โครงการดังกล่าว ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างให้เป็นไปตามกฏหมาย เพื่อไม่ให้สร้างผลกระทบต่อชุมชนและผู้อยู่อาศัยที่อยู่กันมานานหลายสิบปี

IMPRESSION EKKAMAI

ทั้งนี้ ชุมชนชาวบ้านซอยสุขุมวิทซอย 61 มี คุณหญิงชฏา วัฒนศิริธรรม เป็นประธานชมรมฯ และนายศรีภูมิ สุขเนตร เป็นประธานที่ปรึกษาชมรมฯ ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนฯ ที่ล่าสุดได้รวมรายชื่อได้แล้ว 159 คน โดยจะส่งจดหมายถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความเป็นธรรม และเรี่ยกร้องให้เจ้าของโครงการดังกล่าว ทำทุกอย่างให้ถูกกฏหมาย และไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน

น.ส.ณพาพร เล่าว่า ที่ผ่านมา ทางชุมชนฯ มีการศึกษาข้อกฏหมาย โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติ ควบคุม อาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ พบว่า โครงการ IMPRESSION EKKAMAI  ซึ่งประกอบด้วย 3 อาคาร คือ อาคารชุด A สูง 25 ชั้น พื้นที่ 5,973 ตารางเมตร อาคาร B สูง 43 ชั้น พื้นที่ 29,564 ตารางเมตร และอาคาร C เป็นอาคารจอดรถสูง 9 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 7 ชั้น พื้นที่ 4,858 ตารางเมตร

พร้อมกันนี้ ยังมีการสร้างทางเชื่อมอาคาร A และอาคาร B อีกทั้งมีพื้นที่ใช้สอยร่วมกัน ทำให้มีพื้นที่ใช้สอยเกิน 30,000 ตารางเมตร จึงเข้าข่ายเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งไม่สามารถก่อสร้างบนถนนที่มีความกว้างไม่ถึง 18 เมตรได้

“ตามข้อกฏหมาย หากถนนกว้าง 9-12 เมตร สามารถสร้างตีกความสูงได้เพียง 23 เมตร หรือไม่เกิน 8 ชั้น แต่ทางโครงการอ้างว่าที่ดินติดซอย 61 และ 63 ซึ่งถนนเอกมัยความกว้าง 16-17 เมตร ทางโครงการจึงหาช่องกฏหมายกล่าวอ้างว่า โครงการติดถนนเอกมัย จึงสามารถสร้างอาคารความสูงได้เกิน 8 ชั้น”

ที่ตั้ง

นอกจากนี้ ตัวโครงการ IMPRESSION EKKAMAI ซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างซอยสุขุมวิท 61 และซอยสุขุมวิท 63 โดยซอยสุขุมวิท 61 เป็นซอยตัน ความลึกประมาณ 1 กิโลเมตรกว่า มีถนนแคบไม่ถึง 10 เมตร และรถสองคันไม่สามารถสวนกันได้ อาจทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในชุมชนเป็นอย่างมาก และแม้ว่าทางโครงการฯได้แจ้งว่าจะไม่ใช้ซอยสุขุมวิท 61 เป็นทางออก แต่ชาวบ้านยังกังวลว่าหากมีนิติบุคคลเข้ามาบริหารโครงการในอนาคต อาจมีการทำประตูทางออกซอยสุขุมวิท 61

อีกประเด็นที่ทางชุมชนฯ เป็นกังวลอย่างมากคือ ถนนที่แคบ และในโครงการไม่มีที่กลับรถตอนท้ายโครงการ หากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ อาจทำให้รถดับเพลิงไม่สามารถเข้ามาดับเพลิงได้ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบกับที่อยู่อาศัยรอบโครงการ

ที่สำคัญคือ หากปล่อยให้โครงการดังกล่าว ผ่านการพิจารณา EIA (Environmental Impact Assessment Report) ซึ่งเป็นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อคาดการณ์ผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบจากการพัฒนาโครงการ ซึ่งมีประเด็นข้อกฏหมาย อาจทำให้เกิดโครงการอาคารสูงตามมาอีกมาก เพราะขณะนี้เริ่มมีคนประกาศขายที่ดินในซอยแล้ว เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว ทั้งในแง่ภูมิทัศน์ของที่อยู่อาศัย และมลภาวะทางอากาศระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงผลกระทนอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมาก เช่น รถติด ความแออัด

ที่ผ่านมา ชุมชนฯ ได้มีการเจรจากับทางบริษัทเจ้าของโครงการแล้ว 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2562 แต่ไม่มีความคืบหน้า โดยทางโครงการไม่ยอมลดจำนวนชั้นลงให้ถูกตามกฏหมาย รวมทั้งเคยเข้าชี้แจงข้อมูลกับ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ด้านอาคารการจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร ซึ่งครั้งแรก คชก.แจ้งว่าให้บริษัทเจ้าของโครงการกลับไปแก้ไขแบบตามข้อเรียกร้องประมาณ 62 ข้อ

5 Landscape Gate

แต่หลังจากนั้น ทางโครงการแจ้งมายังตัวแทนชุมชนฯ ว่า ได้แก้ไขตามที่ชุมชนฯ เรียกร้องแล้ว แต่จากเอกสารกลับพบว่า เป็นการปรับปรุงในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เช่น เปลี่ยนชื่อ หรือเรียกได้ว่า แทบไม่มีการแก้ไข

ดังนั้น ชุมชนฯ จึงเข้าพบ คชก.อีกครั้ง ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 เพื่อชี้แจงว่าไม่มีความคืบหน้า ซึ่งโดยปกติแล้ว คชก. จะมีคำตอบให้ในวันเดียวกัน แต่ครั้งนี้ คชก. แจ้งว่า ทางบริษัทผู้พัฒนาโครงการไม่ได้เตรียมความพร้อมมา ซึ่ง คชก. ได้ให้เข้ามาชี้แจงใหม่ภายในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ ซึ่งไม่ใช่กรณีที่พบบ่อย

นอกจากนี้ ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ชมรมฯ ยังได้ยื่นหนังสือถึง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อขอเข้าหารือประเด็นข้อกฏหมาย เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวอย่างเร่งด่วนด้วย

“ชาวชุมชนฯ กังวลว่า หากมีการพิจารณาให้โครงการดังกล่าว ผ่าน EIA โดยไม่มีการแก้ไข ถือเป็นการปล่อยให้โครงการที่ยังไม่ผ่าo EIA สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ ทั้งที่ทำไม่ได้หากไม่ผ่าน EIA ต่อไปจะมีโครงการสูงเกิดขึ้นตามมา ซึ่งย่อมส่งผลกระทบถึงชุมชนฯ อย่างมากแน่นอน”

สำหรับการดำเนินการของ ชุมชนฯ ต่อจากนี้ จึงตัดสินใจจะพึ่งกระบวนการยุติธรรม เพราะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการดังกล่าว โดยล่าสุดได้รวมตัวกันขอรายชื่อผู้ร่วมต่อต้านโครงการจากชาวบ้านในซอยแล้ว 154 คน เพื่อส่งจดหมายถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ เพื่อขอความเป็นธรรม

“ที่น่าแปลกคือ โครงการ IMPRESSION EKKAMAI เปิดขายโดยที่ยังไม่ได้ EIA ซึ่งไม่น่าทำได้ เพราะถ้ายังไม่ได้ EIA ก็ไม่สามารถก่อสร้างได้”น.ส.ณพาพรกล่าวปิดท้าย

S 1376272

S 1376273

Avatar photo