Business

SCB ผงะ ‘ขาใหญ่’ ขวางกัลฟ์ ฮุบ ‘วินด์ เอนเนอร์ยี’

scb1

จากปัญหาการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ของผู้ถือหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH เดิมโดย นพพร ศุภพิพัฒน์  ซึ่งมีข้อขัดแย้ง เกิดขึ้นจากการขายหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี ในช่วงที่ผ่านมา การฟ้องร้องได้โยงใยไปยัง เกษม ณรงค์เดช  ประธานกรรมการของกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น และ ณพ ณรงค์เดช ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการวินด์ เอนเนอร์ยี่  และผู้เกี่ยวข้อง ตามที่ The Bangkok Insight ได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ (พลิกปูม: ทำไม SCB เร่ขาย ‘วินด์ เอนเนอร์ยี’ ให้กัลฟ์ (1))

ปัญหาที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและหาทางออก ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบแบบไม่จบสิ้น ทั้งในส่วนของผู้ถือหุ้นเอง และธุรกิจของวินด์ เอนเนอร์ยี รวมไปถึงผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ที่มีการกระจายหุ้นออกไปก่อนหน้านี้แล้วประมาณ 40%

วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง 1

เดิมทีคิดว่าจะนำ วินด์ เอนเนอร์ยี เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ แต่ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ไม่สามารถนำ วินด์ เอนเนอร์ยี เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ในเวลานี้

ประกอบกับธนาคารเจ้าหนี้อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เอง ซึ่งดูเหมือนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่ปล่อยสินเชื่อให้กับ 8 โครงการของ วินด์ เอนเนอร์ยี อาจจะได้รับผลกระทบหนักหากบริษัทยังมีปัญหาอยู่อย่างปัจจุบันนี้

ปมปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฟ้องร้อง หรือการจ่ายเงินค่าหุ้นให้กับ นพพร ศุภพิพัฒน์ ไม่ครบ ปัญหาในครอบครัว “ณรงค์เดช” เอง หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือหาทางออกที่ดี สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อธนาคารเจ้าหนี้ได้

wind1

ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงมีความจำเป็นที่ธนาคารเจ้าหนี้อย่าง SCB ต้องดึง สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เข้ามาซื้อหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี เพื่อต้องการให้บริษัทสามารถเดินหน้าในการทำธุรกิจต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องมีการเจรจา 3 ฝ่ายเกิดขึ้น

ฝ่ายแรกเจรจาซื้อหุ้นจาก นพพร ศุภพิพัฒน์ ฝ่ายที่สองเจรจากับ ณพ ณรงค์เดช และฝ่ายที่สามเจรจากับครอบครัว“ณรงค์เดช”

สิ่งสำคัญของการเจรจาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสามฝ่ายโดยเฉพาะในเรื่อง “ราคา” ที่สำคัญผู้ซื้อไม่ควรใช้สถานการณ์ความขัดแย้งกดราคาซื้อขายจนเกินเหตุ

ในกระบวนการเจรจาซื้อหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาดูเหมือนมีการเจรจาเกิดขึ้นอีกครั้งระหว่าง นพพร ศุภพิพัฒน์ กับ สารัชถ์ รัตนาวะดี ซึ่งน่าจะมีการพบกันเพื่อเจรจาในข้อตกลงซื้อหุ้นน่าจะเป็นรอบที่ 2 หรือ 3 ไปแล้ว ซึ่งในส่วนนี้เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากมาย เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว นพพร ศุภพิพัฒน์ ก็คงอยากจะขายหุ้นออก

“ส่วนการที่จะขายราคาเท่าไหร่คงขึ้นอยู่กับการเจรจา จะบวกลบอย่างไรก็อยู่ที่คุณนพพร จากข้อตกลงเดิมคุณนพพร ตกลงขายให้กับคุณณพ ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 720 ล้านดอลลาร์  หรือประมาณ 23,760 ล้านบาท ในจำนวน  59.4% ดูเหมือนมีข้อตกลงจ่ายงวดแรก 175 ล้านดอลลาร์ ฉะนั้นหากหักออกจากก้อนแรกไปแล้ว ที่เหลือน่าจะอยู่ที่ 545 ล้านดอลลาร์ ส่วนจะมีบวกลบดอกเบี้ยหรือไม่อย่างไรขึ้นอยู่กับการเจรจา”

ขณะที่ของครอบครัว “ณรงค์เดช”  ต้องเจรจากับทางครอบครัว ถึงจำนวนเงินที่ครอบครัวควรจะได้รับ ตัวเลขเงินที่ถูกหยิบยืมออกไปจากครอบครัว เพื่อใช้ซื้อหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี ก่อนหน้านี้ ทางครอบครัว“ณรงค์เดช” น่าจะมีตัวเลขอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้คงเป็นหน้าที่ของ สารัชถ์ รัตนาวะดี  ที่ต้องเจรจา คาดว่าจะมีการติดต่อขอเข้าเจรจาเร็วๆนี้

ขณะหุ้นในส่วนของ ณพ ณรงค์เดช นั้น เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ผู้ที่จะเข้าไปเจรจาคงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารของ SCB  ในฐานะเจ้าหนี้ ฉะนั้นในส่วนของ ณพ ณรงค์เดช กระบวนการเจรจาเพื่อขอให้ขายออกคงจะเกิดขึ้นในไม่ช้าเช่นกัน

narong
ณพ ณรงค์เดช

“มองตามสถานการณ์แล้วยังไงแบงก์ คงต้องบีบให้คุณณพ ขายออกแน่นอน เพราะหากไม่ยอมขายออก อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ตรงนี้ต้องเป็นหน้าที่แบงก์  เพราะแบงก์เองก็ต้องการหาทางออกแบบนี้”

ท่ามกลางการเจรจาเข้าซื้อหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยีของ สารัชถ์ รัตนาวะดี กับเจ้าของหุ้นอย่าง นพพร ศุภพิพัฒน์  ตามข้อเสนอของธนาคารเจ้าหนี้ช่วงที่ผ่านมา  ล่าสุดกลับมีแนวคิดใหม่เกิดขึ้นสวนทางกับสิ่งที่แบงก์เจ้าหนี้กำลังดำเนินการอยู่

ปรากฎว่า มีผู้ใหญ่บางคนในวินด์ เอนเนอร์ยี ไปดึงเอา บริษัทจากอินโดนีเซีย เข้ามาทำ Due Diligence หรือตรวจสอบสถานะธุรกิจของ วินด์ เอนเนอร์ยี แบบพิเศษ จนถึงวันที่ 21 สิงหาคมนี้

“สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้แผนการเจรจาเข้าซื้อหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี ของ GULF จำเป็นต้องรอจนถึงวันที่ 21 สิงหาคมนี้ก่อน” แหล่งข่าว ระบุ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นกรณีไปดึงเอาบริษัทจากอินโดนีเซียเข้ามาคั่นกลางการเจรจาซื้อหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี ครั้งนี้ ทำให้แบงก์เจ้าหนี้อย่างSCB เกิดความไม่พอใจอย่างหนัก ทั้งๆที่แบงก์อยากจะให้เรื่องนี้จบโดยเร็ว และไม่อยากให้การเจรจายืดเยื้อ เนื่องจากงานนี้มีระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนเดือนตุลาคม 2561

“การไปดึงเอาบริษัทอินโดนีเซียเข้ามาซื้อหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี ครั้งนี้เชื่อว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะแบงก์เจ้าหนี้คงจะไม่เอาด้วย แบงก์คงให้น้ำหนักกับกัลฟ์ มากกว่าในการเข้ามาซื้อหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี ฉะนั้นทั้งหมดอยู่ที่แบงก์เจ้าหนี้มากกว่าที่จะขายหุ้นให้กับใคร หากยังยืดเยื้อเชื่อว่าสุดท้ายแล้วแบงก์จะเป็นคนทุบโต๊ะเองแน่นอนเรื่องนี้”

วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง 1

ปัญหาของวินด์ เอนเนอร์ยี เชื่อว่าในที่สุดแล้วคงจะมีทางออกที่ดี ในส่วนของเจ้าหนี้นั้น  ก็ได้ตกลงที่จะให้กัลฟ์ เข้ามาดำเนินการแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าคงจะใช้เวลาในการดำเนินการเจรจากับผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 3 ฝ่ายอีกไม่นาน และเชื่อว่าเมื่อเรื่องการเจรจาขายหุ้นจบ จะทำให้ วินด์ เอนเนอร์ยี  สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปข้างหน้าได้ เพราะในตัวธุรกิจเองไม่ได้มีปัญหาใดๆ ที่ผ่านมาก็ได้มีการผลิตไฟขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)อยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน หากมีการตกลงเจรจาซื้อขายหุ้นทั้ง 3 ฝ่ายจบ สิ่งที่ตามมาคดีฟ้องร้องที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็จะนำไปสู่การถอนฟ้องได้ ซึ่งจะส่งผลดีกับทุกฝ่าย แต่หากยังปล่อยให้เป็นอยู่แบบเดิม ปัญหาการฟ้องร้องก็จะไม่จบสิ้น หุ้นของ วินด์ เอนเนอร์ยี  ก็จะไม่สามารถดำเนินการใดๆ ปัญหาที่ตามมาผู้ถือหุ้นนอกตลาดลหักทรัพย์ที่กระจายออกไปก่อนหน้านี้ประมาณ 40% ก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ซึ่งส่วนนี้ผู้ที่ซื้อหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี  ไปย่อมทราบดีว่ากำลังเป็นปัญหาใหญ่อยู่

“ทุกอย่างเชื่อว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จโดยแบงก์เจ้าหนี้ ที่จะไม่ยอมปล่อยให้เรื่องเป็นอยู่อย่างนี้ หากไปสุดทางและแต่ละฝ่ายไม่ยอม สุดท้ายแบงก์ก็ต้องจัดการขั้นเด็ดขาดแน่นอน”

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight