Business

ส.ค้าปลีกอ้อนรัฐขอ ‘ซอฟท์โลน-งัดมาตรการภาษี’ คาด 2 ปีพลิกฟื้น

เปิดข้อเสนอสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร้องนายกรัฐมนตรีอุ้มรายย่อย อุตสาหกรรมค้าปลีก บรรเทาพิษโควิด-19 วอนใช้มาตรการภาษี อนุมัติซอฟท์โลน ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก ลั่นช่วยจ้างงาน ลดค่าครองชีพ คาด 2 ปีถึงจะพลิกฟื้น

ค้าปลีก 1

นายคมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า จากการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมายังสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เพื่อรับฟังสถานการณ์ ปัญหาและข้อเสนอแนะในอุตสาหกรรมค้าปลีกไทย ทางสมาคมฯ ได้เสนอ 4 มาตรการหลักเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้น ประกอบด้วย

1. การอนุมัติ Soft Loan หรือเงินกู้ระยะสั้น ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่วิสาหกิจ เอสเอ็มอี และ เกษตรกร โดยเชื่อว่าแพลตฟอร์มกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่เชื่อมต่อผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เกษตรกร สู่ผู้บริโภค การพิจารณาสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการกว่า 4 แสนราย จะเป็นช่องทางที่จะถึงมือผู้ประกอบการโดยตรงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

0013

2. ช่วยเหลือค่าครองชีพแก่แรงงานภาคค้าปลีกและบริการ

การรช่วยเหลือแรงงานผ่านระบบประกันสังคม โดยเสนอให้ขยายมาตรการเยียวยาในระบบประกันสังคมให้ยังได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิประกันสังคมต่อไปอีกจนถึงสิ้นปี พ.ศ.2563 และผ่อนผันให้มีการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อแรงงานมีความยืดหยุ่นในการเพิ่มรายได้

3. กระตุ้นแคมเปญการจับจ่ายและการบริโภค

เสนอให้นำโครงการ “ช้อป ช่วย ชาติ” กลับมาสามารถช้อปได้ทุกสินค้า โดยมีวงเงิน 5 หมื่นบาท ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงธันวาคม รวมถึงการผลักดันโครงการ “ไทยเที่ยวไทย ไทยช้อปไทย” เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

เสื้อผ้า

4. มาตรการช่วยลดต้นทุน และเสริมสภาพคล่องธุรกิจค้าปลีก 

การเสนอขอช่วยลดต้นทุนและเสริมสภาพคล่อง ด้วยการใช้มาตรการทางภาษี ไก้แก่ การพิจารณาเลื่อนการจ่ายภาษีนิติบุคคลในงวดครึ่งปีหลังของปี 2562, พิจารณาลดภาษีนิติบุคคลจากอัตราร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 10 เป็นเวลา 3 ปี, พิจารณายกเว้นภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน ประจำปี 2563 – 2564, พิจารณาให้นำงบการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการยกระดับสาธารณสุขเพื่อให้อาคารสถานที่ปลอดจากเชื้อไวรัสโควิด- 19 มาเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 3 เท่า

พร้อมกันนี้ ยังเสนอให้ปรับลดเงินสมทบประกันสังคมในส่วนนายจ้างจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 1 ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนธันวาคม 2563, พิจารณาลดอัตราค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ลงอย่างน้อยร้อยละ 15 จากอัตราปกติเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี และพิจารณาให้นำงบการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อการทำงานที่บ้านและอีคอมเมิร์ซ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มาเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 3 เท่า

Retail

นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ยังได้วางนโยบาย เพื่อร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด – 19 ด้วยการมติให้คงการจ้างงานที่มีอยู่ 1.1 ล้านคน และจะไม่มีการเลิกจ้าง, การจัดสรรพื้นที่ศูนย์การค้ากว่า 100 ศูนย์การค้า รวมทั้งพื้นที่การค้าในไฮเปอร์มาร์เก็ตอีกกว่า 350 สาขา ให้กลุ่มอาชีพอิสระและแรงงานพาร์ทไทม์ มาจำหน่ายสินค้า โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย คาดว่าช่วยสร้างงานเพิ่มขึ้นอีก 1.2 แสนอัตรา

ขณะเดียวกันยังช่วยเหลือเกษตรกร รับซื้อสินค้าจากกลุ่มเกษตรกรโดยตรงปีละ 1.8 หมื่นล้านต่อปี สมาชิกของสมาคมฯ จะเพิ่มการซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นล้านบาทต่อปี และช่วยลดภาระค่าครองชีพ สมาชิกสมาคมฯ จากเครือข่ายค้าปลีกต่างจังหวัดกว่า 57 แห่ง ที่มีความเห็นร่วมกันที่จะตรึงราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนกว่า 50,000 รายการ ตลอดปี

371745

ด้านผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ในไตรมาสสอง ตัวเลขดัชนีค้าปลีก จะเห็นติดลบถึง 20 – 50% ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกในย่านเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ รวมถึงร้านค้าปลีกแฟชั่น เครื่องหนัง เครื่องสำอาง ได้รับผลกระทบมากที่สุด

“สมาคมฯคาดว่า ธุรกิจค้าปลีกและศูนย์การค้า จะพลิกฟื้นกลับมาจุดเดิมคงต้องใช้เวลา 8-24 เดือน หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น  ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวมากหรือน้อย”นายคมสัน กล่าว

ขณะที่การใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาพบว่า ส่งผลกระทบให้ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจบริการหยุดชะงัก ส่งผลขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง อีกทั้งกระทบผู้ประกอบเอสเอ็มอีและเกษตรกรกว่า 4 แสนราย ซึ่งเป็นห่วงโซ่ขาดรายได้ รวมถึงภาวะการว่างงานและการจ้างงานไม่เต็มอัตราเป็นจำนวนมากซึ่งคาดว่าจะมีกว่า 3-5 ล้านคน

Avatar photo