Business

ส่อง ‘อุตฯท่องเที่ยว’ หลังโควิด แมคคินซีย์ แนะกลยุทธ์รับ ‘New Normal’

พิษโควิด-19 ซัดมาร์เก็ตแคปอุตสาหกรรมท่องเที่ยววูบ 35% กระทบแรงงานอุตสาหกรรมโรงแรมกว่า 1.6 ล้านคน แนะธุรกิจจับเทรนด์นักเดินทางปรับสู่ New Normal สร้างแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

นายณัฐวุฒิ กุลนิเทศ ประธานบริหาร ADGES เปิดเผยว่า แมคคินซีย์ (McKinsey) ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากบริษัทชั้นนำ 5,000 บริษัทด้านมูลค่าตลาด หรือมาร์เก็ตแคป (Market Capitalization) พบว่าภายหลังจากการเกิดวิกฤติโควิด-19 มูลค่ารวมของบริษัทมีการลดลงในทุกๆกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว พบว่า มาร์เก็ตแคป ลดลงไปกว่า 35%

map 3953229 1280

ขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการโรงแรมประเมินว่า ในเดือนเมษายน 2563 โรงแรมกว่า 3,000 แห่ง จะไม่มีรายรับเข้ามา และทำให้พนักงานในภาคอุตสาหกรรมโรงแรมที่มีกว่า 1.6 ล้านคน ได้รับผลกระทบ โดยมีโรงแรมในกรุงเทพฯ ปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2563 จำนวน 27 แห่ง และโรงแรมในภูเก็ตกว่า 87% ต้องปิดให้บริการ จากมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งแมคคินซีย์  ประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในไทยปีนี้จะลดลง 60% เหลือราว 19 ล้านคน

สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในอนาคต จะเริ่มกลับมาจากการเดินทางภายในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด ซึ่งสามารถเห็นตัวอย่างจากในประเทศจีนที่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่พบว่า อัตราการเดินทางภายในจีนปรับตัวสูงขึ้น แต่การเดินทางระหว่างประเทศยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ส่วนอัตราการเข้าพัก จะเห็นว่าการเข้าพักของโรงแรมในระดับล่าง (Economy) เพิ่มขึ้นสูงที่สุด หรือเพิ่มขึ้นกว่า 23% ในเดือนมีนาคม 2563 เนื่องจากโรงแรมในกลุ่มระดับกลางและกลุ่มราคาประหยัดเป็นสถานที่ที่ใช้ในการกักกันผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่กลุ่มโรงแรมระดับ Luxury อัตราการเข้าพักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในเดือนมี.ค. 63 หรือเพียง 12%

แมคคินซีย์ ตั้งข้อสังเกต คือ ในขณะนี้ผู้เดินทางมีอายุเฉลี่ยน้อยลงหรือว่าเป็น Young Adult ที่เริ่มเดินทาง อีกแนวโน้มหนึ่งคือ การจองตั๋ว Last minute Booking หรือการจองตั๋วโดยมีระยะเวลานับตั้งแต่วันที่จองตั๋วถึงวันเดินทางน้อยกว่า 7 วันเพิ่มขึ้นกว่า 90%

ภาพประกอบ 3 1

นอกจากนี้ ยังพบแนวโน้มการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจองนักท่องเที่ยว โดย 90% ของนักเดินทางจะได้รับอิทธิพลมาจากออนไลน์รีวิว และ 72% ของ Mobile Booking เกิดขึ้นภายในเวลา 48 ชั่วโมงหลังจากการค้นหาในกูเกิล รวมทั้งพบว่า 40% ของนักเดินทางที่มาจากสหรัฐใช้โทรศัพท์มือถือในการจองทริป

“แนวโน้มเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีวิกฤติโควิด-19 ซึ่งสามารถคาดเดาได้ว่านักเดินทางเองก็จะใช้เวลาค้นหาข้อมูลเองมากที่สุด ส่วนนักเดินทางในกลุ่มธุรกิจจะระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายมากขึ้น แม้หลังโควิด-19ก็ตาม”นายณัฐวุฒิ กล่าว

เมื่อพิจารณาแนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะพบว่า มีการควบรวมกิจการของผู้เล่นในอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมการบิน ที่สุดท้ายแล้วจะเหลือสายการบินขนาดใหญ่ไม่มากนัก และผู้เล่นในอุตสาหกรรม OTA (Online Travel Agent) ที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจจะมีการควบรวมกิจการกัน รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามา เช่น กูเกิล ที่ปัจจุบันประสบปัญหารายรับค่าโฆษณาลดลง อาจทำให้กูเกิลลงมาเป็นผู้เล่น OTA เองเพื่อเพิ่มรายได้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะมีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นการท่องเที่ยว และการปรับตัวของนักท่องเที่ยว จะมีการเดินทางเองแล้วจะใช้อุปกรณ์ดิจิทัลหรือข้อมูลทางด้านดิจิทัลช่วยเหลือในการเดินทางมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจอย่างรวดเร็วในการเดินทาง ระยะเวลาจองตั๋วล่วงหน้าจะน้อยกว่า 7 วันด้วยซ้ำไป

office 1548297 1280

สำหรับทางออกของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยสามารถทำได้ 3 ขั้นตอน โดย ขั้นตอนแรก การจัดตั้ง Nerve Center เพื่อประเมินถึงผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาว ขั้นตอนที่สอง เน้นการบริหารต้นทุนให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อให้ดำเนินกิจการต่อไปได้รวมถึงการดูแลพนักงาน และขั้นตอนที่สาม พร้อมมองหาช่องทางในการใช้สินทรัพย์ที่มีและสร้างแหล่งรายได้เสริม อีกทั้งเตรียมการจัดการเพื่อรับมือกับการกลับมาของสภาวะปกติ

สิ่งสำคัญคือ การเตรียมพร้อมสำหรับความปกติใหม่ (New Normal) สามารถทำได้โดยการระบุถึงกลุ่มลูกค้าที่มีอัตราการเติบโตที่สูง การพิจารณาถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับ New Normal เช่น การตัดสินใจโดยเฉียบพลันในการเดินทาง การคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขอนามัย การสร้างพันธมิตรระหว่างแบรนด์ที่เป็นที่ไว้ใจ และการเตรียมความพร้อมว่าคนเดินทางรุ่นใหม่มักจะใช้ ดิจิทัล แพลตฟอร์มที่หลากหลาย

พร้อมกันนี้ แมคคินซีย์ ยังแนะนำ 4 แนวทางช่วยเหลือพนักงานในช่วงเวลาวิกฤติ ได้แก่

  • การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพนักงานในองค์กร
  • หาโปรแกรมช่วยเหลือพนักงานที่จำเป็นต้องออกจากงาน
  • จัดหาเงินทุนเพื่อช่วยพนักงานที่ประสบปัญหาทางด้านการเงิน
  • พัฒนาทักษะของพนักงานเพื่อให้สามารถทำงานประเภทอื่นได้

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยอาจสร้าง แพลตฟอร์มกลางขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงผู้เล่นต่างๆ ในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น  สายการบิน, บริษัททัวร์, โรงแรม, ผู้จัดอีเว้นท์ ฯลฯ เข้ากับผู้เดินทาง รวมทั้งใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประสบการณ์เสมือน (Virtualization) ให้กับนักท่องเที่ยวได้

Avatar photo